วันพุธที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

เมื่อหัวใจแห่ง “การศึกษาเพื่อความเป็นไท” ของอดัม เคิร์ล กลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อหัวใจแห่ง “การศึกษาเพื่อความเป็นไท” 

ของอดัม เคิร์ล กลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง


วิศิษฐ์ วังวิญญู

yourservant007@yahoo.com


ส่วนใหญ่หนังสือหนังหาทางความคิด ในคนรุ่นของอดัม เคิร์ลนั้น หากเขียนในมิติของสังคม ก็จะเน้นย้ำไปในทางแสวงหาความยุติธรรมเพียงอย่างเดียว และจะเต็มไปด้วยเหตุผลอะไรต่ออะไรมากมาย โดยขาดมิติทางจิตใจ และอีกด้านหนึ่ง หากจะเน้นย้ำไปในทางจิตวิญญาณ ก็มักจะเป็นจิตวิญญาณที่ไม่ได้เชื่อมโยงไปหาความยุติธรรมทางสังคม อันนี้ ต้องนับว่าอดัม เคิร์ลนั้นก้าวล้ำยุคสมัยของเขา ที่เขาสามารถเชื่อมร้อยเรื่องความอยุติธรรมทางสังคมได้กับเรื่องพัฒนาการทางจิต อย่างเป็นหนึ่งเดียวกัน 


ในการศึกษาเพื่อความเป็นไท บทแรก ๆ อดัม เคิร์ลจะได้พูดถึงระบบการศึกษาอันอยุติธรรม เขากล่าวว่า คนส่วนใหญ่ในสังคม ถูกกำหนดเส้นทางเดินให้อยู่ในระบบโรงเรียนซึ่งจะสอนให้เขารู้สึกว่าล้มเหลวในระบบการศึกษา และยอมรับชะตากรรมของพวกเขาอย่างจำนน จะมีคนส่วนน้อยในระบบการศึกษาที่ดีกว่า ที่สอนให้เขาประสบความสำเร็จ คนพวกนี้จะอยู่โรงเรียนที่ดีกว่า ดีกว่าในความหมายที่ เป็นระบบโรงเรียนน้อยกว่า และให้ความเป็นมนุษย์แก่นักเรียนมากกว่า 


แต่แทนที่เคิร์ลจะเผยให้เห็นระบบการศึกษาอันอยุติธรรมเท่านั้น เขายังได้ค้นหาวิถีที่จะทำให้การศึกษาได้รับใช้มนุษย์อย่างแท้จริง ที่เป็นการศึกษาเพื่อให้มนุษย์ได้เป็นไท ได้ในทุก ๆ ระดับการศึกษา หากเราเข้าใจวัตถุประสงค์และวิธีการทางการศึกษาที่แท้จริง โดยที่จะต้องเห็น “มายาคติ” ของความเป็นโรงเรียน ความเป็นระบบโรงเรียน อันไม่ใช่ที่ทางของการศึกษาที่แท้


ตรงนี้เอง ที่เขาได้เชื่อมโยงพัฒนาการด้านจิตใจของมนุษย์เข้ามาผสมผสานเข้ากับการศึกษาเพื่อความยุติธรรม 


ตัวเชื่อมโยงที่สำคัญที่สุดของเขาก็คือ “ครู” และตัวส่งผ่านการศึกษาที่แท้จริงก็คือ “ความสัมพันธ์” ระหว่างครูกับศิษย์ และตัวที่จะกำหนดคุณภาพที่สำคัญยิ่งก็คือ “ความรู้เท่าทัน” ในตัวครูต่อตัวเอง เคิร์ลได้พูดถึงระดับความรู้เท่าทันสามระดับ หรือเอกลักษณ์สามแบบ ที่ทำให้ได้มาซึ่งคุณภาพทางการศึกษาที่แตกต่างกัน


เราควรจะได้กลับมาเยี่ยมชมความคิดเรื่องความรู้เท่าทันสามระดับของเคิร์ลอีกครั้ง เพื่อจะได้เห็นว่า ความคิดของเขายังล้ำสมัยอยู่แม้ในทุกวันนี้


 


อัตลักษณ์สามขั้นตอน เริ่มจากความรู้เท่าทันระดับต่ำ


อดัม เคิร์ลพูดถึงการพัฒนาเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์ของมนุษย์ เป็นสามขั้นตอน คือเริ่มจาก การไม่มีเอกลักษณ์ หากดำรงอยู่ไปตามแรงขับดันของธรรมชาติและสัญชาตญาณ ซึ่งก็คือ ความรู้เท่าทันที่ในระดับต่ำที่สุด คือไม่รู้ตัวว่าตัวเองคือใคร ไม่มีการใคร่ครวญอะไรกับชีวิต หากดำรงอยู่ไปตามแรงขับที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้น ๆ อย่างไม่รู้ตัวเอง อย่างหลับใหล อย่างไม่อาจควบคุมกำกับทิศทางชีวิตของตัวเองได้


เขาบรรยายถึงสภาวการณ์ของคนที่ดำเนินชีวิตอยู่ในความรู้เท่าทันระดับที่ต่ำดังนี้


“ในสภาวะของความรู้เท่าทันที่ต่ำนี้ เราจะพูดและกระทำไปโดยอัตโนมัติ โดยไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่า เรากำลังทำอะไรอยู่ ฉากของความรู้จะแวบวาบไปด้วยอารมณ์ที่แปรเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ความกังวลใจก็ดี ความรู้สึกพึงพอใจในตนเองก็ดี หรือความงุ่นง่านรำคาญใจก็ดี ตกเป็นเหยื่อของแรงขับทางอารมณ์อันไม่แน่นอนซึ่งซ่อนตัวอยู่ เราจะกระทำหรือพูดในสิ่งที่เราจะมารู้สึกเสียใจและอับอายในภายหลัง “ผมไม่รู้หรอกว่าอะไรเข้ามาครอบงำ” หรือ “ผมไม่ได้คิดอย่างนั้น” เราพูดไปโดยไม่มีการฟังตัวของเราเอง เหมือนกับเปิดแผ่นเสียงให้เหมาะกับโอกาส แล้วปล่อยให้มันพูดแทนเรา ทั้งนี้ เราไม่ได้รู้สึกตัวในเรื่องเอกลักษณ์ของเราเลย เมื่อเราดำเนินชีวิตไปด้วยความรู้เท่าทันในระดับที่ต่ำนั้น ก็เปรียบได้กับว่า เราเปิดสวิทช์ให้เครื่องบินบินไปโดยอัตโนมัติ และเราก็จะได้หลับสักงีบ แต่กลไกอัตโนมัตินั้นอาจนำเราไปในทิศทางที่ ถ้าเราตื่นอยู่ เราก็อาจจะไม่เลือกที่จะไปในทิศทางนั้นเลยก็ได้”


“การไม่รู้เท่าทันยังหมายถึงการใช้ชีวิตอย่างตื้นเขินอยู่เพียงแค่พื้นผิว โดยเมินเฉยต่อสิ่งที่อยู่ลึกจากพื้นผิวของการรับรู้เข้าไปข้างใน เป็นการเพิกเฉยต่อสัญชาตญาณและญาณทัศนะที่ก็เป็นด้านหนึ่งของบุคลิกภาพด้วย เป็นเหตุให้มีชีวิตทางจิต ที่แบนราบเพียงสองมิติ(กว้างคูณยาว) แต่แน่นอนการปฏิเสธความรู้เท่าทันต่อชีวิตด้านใน มิได้ลบเลือนชีวิตด้านนั้นออกไปได้ ในทางกลับกัน เรายิ่งจะถูกครอบงำจากชีวิตด้านในมากยิ่งขึ้น ความกลัวสุดขีด ความรู้สึกผิด ความปรารถนาอันน่าอับอาย ภาพสวยงามในฝัน อสรพิษร้าย ลิงอุรังอุตัง ตลอดจนบรรดาทวยเทพ ประกอบกันขึ้นเป็นเทวดาและภูตผีภายในตัวเรานั้นเอง”


ระดับที่สอง อัตลักษณ์ที่เชื่อมโยงกับการครอบครองและถูกครอบครอง


ระดับที่สอง จะเป็นระดับที่มีเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์ขึ้นมาแล้ว แต่มันเป็นไปในสิ่งที่ตัวเองเข้าไปสังกัด และหรือเข้าไปครอบครอง คล้ายดังที่อีริค ฟรอมนักคิดและนักจิตวิทยาคนหนึ่งที่กล่าวว่า มนุษย์จะดำรงชีวิตอยู่ในมิติของ To Have เท่านั้น หากเขายังไม่ได้ไปถึงระดับ To Be เขายังขึ้นอยู่กับสิ่งที่เขามีในครอบครองมากกว่า ที่จะเป็นไปด้วยคุณสมบัติภายในของเขาจริง ๆ 


ระดับที่สองนี้เองที่ทำให้สังคมดำเนินไปได้อย่างที่มันเป็น ซึ่งยังไม่ใช่สังคมในอุดมคติ หากยังเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยความอยุติธรรมและไม่เอื้อเฟื้อต่อ การพัฒนาการของมนุษย์ในระดับที่สามที่จะได้กล่าวถึงต่อไป


อดัม เคิร์ลกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า


“เอกลักษณ์แบบครอบครองนี้ได้กลายมาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ที่เราจะลุกขึ้นมาตอบโต้อย่างแข็งขันและรุนแรงต่อสิ่งที่จะมาทำลายเอกลักษณ์อันนี้ของเรา ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากสามีหรือภรรยาของเราไม่สัตย์ซื่อ สุนัขของเรา ดูจะเคล้าเคลียผู้มาเยือนที่ไม่รู้จักมากว่าเจ้าของเอง ภาพเขียนที่เราเลือกมากที่สุดแล้วกลายเป็นของปลอม บุตรธิดากลายเป็นพวกฮิปปี้... เหล่านี้ ไม่เพียงแต่ทำให้เราโกรธ หรือเศร้าเสียใจเท่านั้น แต่จะทำให้เราตื่นตกใจ เพราะว่าส่วนหนึ่งของเอกลักษณ์ที่ปิดบังไม่ให้เรารู้ว่า เราไม่สามารถที่จะเผชิญกับตนเอง ได้ถูกทำลายลง เราจะถูกผลักไสให้ตกอยู่ในสภาพสิ้นหวังอย่างยาวนาน และเราก็ยิ่งจะแสวงหาหลืบมุมทางจิตวิทยาที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น โดยจะเห็นได้ว่าเป็นปฏิกิริยาที่แสดงออกอย่างเกินกว่าเหตุ”


“เพราะเอกลักษณ์แบบครอบครองนั้น แม้ว่าจะผูกรัดมนุษย์ไว้ไม่ให้เจริญงอกงาม แต่ก็สามารถให้กรอบที่อาศัยอ้างอิงเพื่อให้เกิดความมั่งคง เป็นรูปธรรมที่เราจะเกาะเกี่ยวเอาไว้ เอกลักษณ์แบบนี้ประสบความสำเร็จ ที่ทำให้เราเห็นว่า เรายืนอยู่ที่ไหน”


และแล้ววัตถุนิยมแบบแข่งขันก็เข้ามา


“ที่ว่าเป็นแบบวัตถุนิยม ก็เพราะการประเมินค่าตนเองของเขาขึ้นอยู่กับวัตถุ แม้ว่าวัตถุนั้นจะรวมเอาเรื่องของคุณภาพเข้าไว้ด้วยก็ตาม เช่น เรื่องของการมีรสนิยม หรือการมีความละเอียดอ่อนในการรับรู้ความรู้สึกบางเรื่องบางประการก็ตาม สิ่งเหล่านั้นก็ยังเป็นสิ่งที่พวกเขารับมาจากภายนอกตัว มากกว่าที่จะเป็นธรรมชาติที่แท้จริงของตัวพวกเขา ซึ่งถ้าจะให้เพื่อนของเขาบอกเขาว่า เขาเป็นคนอย่างไร เขาก็จะได้รู้ว่า เพื่อนของเขาไม่ได้คิดเห็นอย่างเดียวกับเขา ดังนั้น การประเมินค่าของเขาเกี่ยวกับตนเองจึงผิดพลาด เขาอาจจะให้คุณค่าสูงส่ง ต่อองค์ประกอบสำคัญ ๆ ที่สร้างเอกลักษณ์ของเขาขึ้นมา โดยที่จริง สิ่งเหล่านั้น ก็ไม่ได้มีคุณค่าถึงขนาดนั้น...”


“ที่ว่าเป็นแบบแข่งขันก็เพราะ ถ้าหากเราประเมินค่าตัวเราเองจากสิ่งภายนอก เราก็จะวัดตนเองด้วยการเปรียบเทียบกับคนอื่น และผลที่ตามมาก็คือ เราจะถูกผลักดันให้ต้องการครอบครองวัตถุสิ่งของมากขึ้น หรือต้องการเกียรติยศ หรือต้องการคุณสมบัติที่เป็นมาตรฐานในไม้บรรทัดของเรา ทั้งนี้ก็เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเหนือกว่าผู้อื่น”


เทียบเคียงสองระดับของพัฒนาการของมนุษย์กับงานของเดวิด กอเตน


กอเตนเขียนลำดับพัฒนาการของสังคมมนุษย์ไว้ในหนังสือเล่มล่าสุดของเขาชื่อ The Great Turning: From Empire to Earth Community,2006 แบ่งพัฒนาการทางสังคมออกเป็นห้าอันดับ 


อันดับแรกคือ Magical consciousness เป็นสภาวะเด็กที่ยังไม่แยกออกจากมารดา โลกเต็มไปด้วยมนต์วิเศษ แต่ไม่อาจเข้าใจมนต์วิเศษนั้น หากต้องพึ่งสิ่งศักดิ์ที่อยู่เหนือตน


อันดับที่สองและสามคือ Imperial Consciousness และ Socialized Consciousness อันดับที่สองคือ อัตตาตัวตน คือการเป็นเจ้าเข้าครอง เป็นการครองความเป็นเจ้าในระดับของสมองสัตว์เลื้อยคลาน และอันดับที่สาม สังคมพัฒนาขึ้นมา มีกติกามากขึ้น เป็นการทำงานของเหตุผล หรือสมองซีกซ้าย การเกิดขึ้นของยุคเรืองปัญญาหรืออภินิวัติของตะวันตก การเกิดขึ้นของลัทธิขงจื้อของจีน เป็นสังคมที่มีสัญญาประชาคม หรือ Social Contract มันก้าวหน้าขึ้นมา แต่กระนั้นก็ยังติดแหง่กอยู่กับกรอบระเบียบอันตายตัว และไม่สร้างสรรค์ มันเป็นคณิตศาสตร์แบบเรขาคณิต ที่ไม่สวมได้พอดีกับระบบชีวิต และเครือข่ายที่มีชีวิตของระบบนิเวศ ยึดหลักการ หลักคิด โดยไม่สามารถหล่อหลอมหัวใจเข้ามา มันแข็งทื่อ เพราะในหลักการแบบขงจื้อ ที่เมาเซตุงเอามาใช้อย่างสุดโต่ง ผู้คนก็กลายเป็นผักปลา ชีวิตไม่มีความหมาย หากเป็นเพียงตัวเลขทางสถิติ ดังต่อมาจีนก็ฆ่านักศึกษาประชาชนที่จตุรัสเทียนอันเหมินเป็นเรือนแสน ซึ่งถ้าเป็นตัวเลขทางสถิติก็จิ๊บจ๊อย


สังคมทุกวันนี้เป็นส่วนผสมผสานระหว่างสองและสามนี้ คือการใช้อำนาจเข้าครอง หรือระบบนักเลงหัวไม้ ผสมผสานกับกติกาทางสังคมที่ตายตัว หรือทรราชทางกฎหมาย อย่างไม่สามารถหลอมรวมหัวสมองเข้ากับหัวใจได้


และระดับนี้ ก็คือ Belonging Identity ของอดัม เคิร์ลนั้นเอง อัตลักษณ์ที่พวกเขาพากันครอบครอง และองค์กรหรืออัตตาตัวตนที่ใหญ่กว่า ที่ตัวเองเข้าไปสังกัดอยู่ มาอรรถาธิบาย มาเป็นเหตุผลแห่งการดำรงอยู่ และเป็นเกณฑ์กฎการดำเนินชีวิตของตัวเอง


ระดับที่สาม ความรู้เท่าทันตัวเองที่เปล่งประกายเต็มที่


การอรรถาธิบายเอกลักษณ์แบบรู้เท่าทัน เคิร์ลใช้ถ้อยคำอธิบายของมาสโลว์มาอธิบาย ดังต่อไปนี้


“ในประสบการณ์ที่จุดสุดยอด เราจะปล่อยวาง และมองสิ่งต่าง ๆ อย่างเป็นภาวะวิสัย เราจะรับรู้โลกอย่างเป็นอิสระ ไม่เพียงแต่จะเป็นอิสระจากผู้รับรู้เท่านั้น หากยังเป็นอิสระจากจุดยืนของมนุษย์เองอีกด้วย ผู้รับรู้จะสามารถมองธรรมชาติตามที่มันเป็นจากจุดยืนของมันเอง ไม่ใช่ว่ามองสิ่งต่าง ๆ ว่าเป็นเพียงสิ่งแวดล้อมที่รายรอบตัวมนุษย์ และมองสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นว่าเป็นไปเพื่อรับใช้เป้าประสงค์ของมนุษย์ เขาสามารถถอนตัวออกจาก การนำเอาเป้าประสงค์ของมนุษย์ มาเป็นตัวกำหนดในการมองสิ่งต่าง ๆ ในฐานะที่มันเป็นตัวของมันเอง(และเป็นไปเพื่อตัวของมันเอง) มากกว่าที่จะมองในฐานะของสิ่งใช้สอย หรือสิ่งที่เรากลัว หรือสิ่งที่เราปรารถนา หรือสิ่งที่เราจะต้องมีปฏิกิริยาโต้ตอบในฐานะที่เราเป็นบุคคล มนุษย์ และมีอัตตาตัวตนเป็นศูนย์กลาง... นี่เป็นการพูดถึงการรับรู้อย่างเทพ การรับรู้ที่เหนือมนุษย์ ประสบการณ์ที่จุดสุดยอดนั้นดูเหมือนกับว่า จะยกเราให้สูงส่งยิ่งกว่าปกติ ซึ่งทำให้เราเห็นและรับรู้ได้ยิ่งกว่าตามที่เราเห็นและรับรู้โดยปกติ เรารู้สึกว่าเราเป็นคนที่เติบใหญ่ แข็งแรง สูงส่งยิ่งกว่าเดิม... กล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า การรับรู้ในประสบการณ์ที่จุดสุดยอดนี้ เราจะสามารถข้ามพ้นพรมแดนแห่งอัตตา สามารถลืมความเป็นตัวตน ไม่ยึดติดในตัวตนและไม่เห็นแก่ตัว และอาจจะไปได้ถึงขนาดที่เราจะไม่มีตัณหา จะไม่ยึดติดกับการเป็นบุคคล ไม่มีความต้องการใด ๆ ปล่อยวาง ไม่มีความอยากหรือความปรารถนาใด ๆ ... ในประสบการณ์สุดยอดนี้ กรอบแห่งกาลเวลาและสถานที่จะแปรเปลี่ยนไป อาจจะถึงขั้นที่ว่างเปล่า จากการรับรู้เรื่องกาลเวลาและสถานที่ ถ้าจะกล่าวในนัยยะบวก สิ่งนี้ก็คือประสบการณ์ที่หยั่งถึงความเป็นสากลและความเป็นนิรันดร์... บุคคลที่เข้าถึงประสบการณ์ที่จุดสุดยอด จะรู้สึกว่าวันเวลาผ่านไปอย่างกับเวลาเป็นเพียงนาที และว่านาทีหนึ่ง ๆ ก็ได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มเปี่ยม เปรียบประดุจว่า เวลาผ่านไปเป็นวันเป็นปี หรือแม้กระทั่งเป็นนิรันดร และเขายังได้สูญเสียการรับรู้ว่าเขานั้นได้อาศัยอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งในจักรวาลนี้... โลกที่มองผ่านประสบการณ์ที่จุดสุดยอดนี้ จะเป็นโลกที่สวยงาม ดีงาม เป็นที่ปรารถนาและมีคุณค่าเท่านั้น หากจะไม่เป็นโลกที่เลวร้าย หรือไม่พึงปรารถนาเลย โลกได้รับการยอมรับ ผู้คนก็จะเข้าใจโลก” 



การศึกษาเพื่อความเป็นไทในสังคมไทย


การปฏิรูปการศึกษาในเมืองไทยที่ยังล้มลุกคลุกคลานอยู่เช่นไร ก็ยังคงล้มลุกคลุกคลานเช่นนั้นต่อไป เรายังจับประเด็นหลักรองไม่ได้ เรายังไม่อาจเคลื่อนย้ายกระบวนทัศน์ได้ เนื่องด้วยเรายังมองไม่เห็นเกลียวพลวัตของการพัฒนาทางจิตวิญญาณอย่างแท้จริง


เวลานี้ความหวังกลับมาดำเนินอยู่ตรงชายขอบของระบบการศึกษา ตามความเป็นไปของทฤษฎีความไร้ระเบียบ การเปลี่ยนแปลงจะเริ่มต้นที่ชายขอบก่อน และเมื่อพลังดึงดูดของชายขอบมากพอ มันก็จะกลายสภาพระบบทั้งหมดไปตามต้นแบบที่มันสร้างขึ้น เราลองมาทำความรู้จักกับการเปลี่ยนแปลงที่ชายขอบเหล่านี้สักเล็กน้อย 


ก่อนอื่น ต้องกล่าวไว้ก่อนว่า ตัวอย่างที่ยกมานี้ ไม่ได้ครอบคลุมเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมดของสังคมไทย แต่จะกล่าวถึงเฉพาะที่ตัวเองเข้าไปมีส่วนสัมผัสโดยตรงด้วยตัวเอง หรือเข้าไปรับรู้ เพราะฉะนั้น น่าจะมีการเคลื่อนไหวเช่นนี้อีกไม่น้อย ที่เราไม่ได้เข้าไปร่วมรับรู้ด้วย


ประการแรก คือความพยายามจะสอนจรรยาบรรณในวิชาชีพ และหรือจริยธรรมโดยรวมที่นักศึกษาจะมีสำนึกต่อการมีบทบาทของตนในฐานะของพลเมืองที่มีจริยธรรม


ประมาณปี ๒๕๔๗ ภาควิชาทันตะชุมชน คณะทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เชิญทีมเสมสิกขาลัย เชียงราย หรืออีกนามหนึ่งก็คือ ทีมจิตวิวัฒน์เชียงราย ไปจัดการอบรมให้นักศึกษาปีที่๖ ที่กำลังจะจบการศึกษา คณาจารย์คิดว่า อยากให้พวกเขาได้สัมผัสอะไรพิเศษในมโนสำนึก เพื่อจะได้ตระหนักในความเป็นพลเมืองที่รับผิดชอบ ใช้เวลาอยู่กับพวกเขาจำนวนเจ็ดสิบคนราว ๆ วันครึ่ง กับอีกหนึ่งคืน


จากนั้นในเดือนกรกฎาคม ปี ๒๕๔๙ นี้ อาจารย์คณะทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็ยกทีมมา เรียนรู้ในวิถีแห่งสุนทรียสนทนา และการเรียนรู้แบบจิตตปัญญาศึกษา หรือ Contemplative Education กับสำนักจิตวิวัฒน์เชียงรายสามวันสองคืน จากนั้น เราก็ได้สร้างข่ายสื่อสารทางอินเตอเนตร่วมกัน และร่วมเรียนรู้กันมาตลอด โดยที่บางทีก็ได้มาพบปะพูดคุยกันนอกรอบอีกด้วย


ในเดือนพฤษภาคม ปี ๒๕๔๙ นี้ ทางคณะแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ได้ให้พวกเราไปทำกิจกรรมให้นักศึกษาในเรื่องจิตตปัญญาศึกษานี้เหมือนกัน เป็นเวลาวันครึ่ง กับนักศึกษาจำนวนประมาณ ๑๕๐ คน และทางคณาจารย์ก็เห็นความสำคัญว่าน่าจะได้มีการขยายงานด้านนี้อย่างมีนัยยะสำคัญ


ในปลายปี ๒๕๔๙ ราวเดือนตุลาคม นี้เอง ทางคณะแพทย์ศาสตร์ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ก็ได้เชิญพวกเราไปทำกิจกรรมการเรียนรู้แบบจิตตปัญญาศึกษาให้แก่อาจารย์ของคณะประมาณ ๓๕ คน เป็นเวลาสามวันครึ่ง กับสามคืน นับเป็นหลักสูตรที่เข้มข้น ที่ทำให้อาจารย์ตื่นตัวกันมาก และเห็นแนวทางการทำงาน ที่จะสร้างสำนึกอันดีงามให้แก่นักศึกษาของตนได้


ความพยายามอีกด้านหนึ่ง ก็มีคณาจารย์กลุ่มเล็ก ๆ อีกกลุ่มหนึ่งจากสามสถาบันได้พยายามทดลองการสอนแบบใหม่ โดยใช้หลักการความเข้าใจเรื่องการทำงานของสมอง อย่างเป็นปัจจุบัน คืออาศัยงานวิจัยล่าสุดในเรื่องการเรียนรู้ของสมอง สามสถาบันนั้นก็คืออาจารย์บางท่านจากธรรมศาสตร์วิทยาเขตลำปาง อาจารย์บางท่านในคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาอุบลราชธานี อาจารย์บางท่านจากราชภัฏเชียงใหม่ ได้พยายามจัดการเรียนการสอนที่แตกต่างออกไปจากเดิม โดยอาศัยความรู้ฐานสมอง ที่ให้ความสำคัญกับอารมณ์ความรู้สึก ที่มาที่ไปของนักศึกษา และความแตกต่างในการหาทางเข้าสู่การเรียนรู้ของนักศึกษาแต่ละคนด้วย


ทั้งหมดนี้ ผมคิดว่า จะพยายามเชื่อมโยงเครือข่ายการเรียนรู้ที่มีชีวิตนี้ เข้ากับเครือข่ายอินเตอเนตใช้เทคโนโลยีอย่างใหม่ให้เป็นประโยชน์ เพื่อทำให้การเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นนี้ยั่งยืน และงอกงาม มีนวัตกรรมใหม่ ๆ ออกมาตลอดเวลา ที่จะทำให้จิตตปัญญาศึกษาของนักศึกษาเหล่านี้เป็นจริงได้


เรื่องเล่าที่อาจเป็นแรงบันดาลใจ


อาจารย์ท่านหนึ่ง คืออาจารย์ธิดาวรรณแห่งคณะทันตะ มช. ได้นำวิถีทางอย่างใหม่เข้าไปสอนนักศึกษาในเรื่องของสำนึกเกี่ยวกับเวลา และได้บอกเล่าเรื่องมาดังนี้


วันศุกร์ที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๙

สวัสดีค่ะ

จากที่อ.วิชัยเกริ่นไว้ในฉบับก่อนหน้านี้  ก็เลยจะขออนุญาตแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้เรื่องจริยธรรมผ่านการศึกษาตนเองในเรื่อง "เวลา" อาจจะยาวนิดนึงนะคะ พยายามเรียบเรียงเพื่อให้เห็นภาพชัดเจน

กลุ่มของตัวเองนั้น แรกเริ่มนักศึกษาในกลุ่ม (13 คน) ช่วยกันคิดหาประเด็นที่ต้องการทดลองทำการศึกษาที่เป็นประเด็นร่วมของกลุ่ม เป็นประสบการณ์ร่วมของกลุ่ม ปรากฎว่าเขาเลือกเรื่องของการเข้าห้องเรียนไม่ตรงเวลา การไม่ไปตามเวลานัดเมื่อมีการประชุมกลุ่มทำงานกับเพื่อน หรือการนัดเวลาในการทำกิจกรรมต่างๆ จนมีคำที่รียกกันในหมู่นักศึกษาว่า "dent time" หมายความว่า พวกนักศึกษาทันตะนัดแล้วไม่เคยตรงเวลา และเป็นเรื่องปกติที่จะไม่ตรงเวลา ถ้ามีนัดแล้วควรไปหลังเวลานัดจึงจะเจอผู้คน นักศึกษาบอกว่าเค้าเรียนรู้วัฒนธรรม dent time เมื่อเข้ามาเรียนที่นี่ ทั้งๆที่เมื่อก่อนอยู่บ้าน หรือเป็นเด็กนักเรียนตัวเองเคยเป็นคนที่ตรงเวลา ให้ความสำคัญกับการนัดหมายมาตลอด 

ที่จริง คำว่า dent time นี้เป็นคำ และเป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยที่ตัวเองเป็นนักศึกษาอยู่ (ก็กว่า 10 ปีแล้ว) 

เริ่มแรกด้วยความที่ตัวเองก็ยังจับต้นชนปลายไม่ถูก ก็คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ดีในการศึกษา เพราะเห็นประเด็นชัดดี และเห็นความตั้งใจของกลุ่มแล้วน่าจะเกิดจากความตั้งใจของกลุ่มจริงๆในการสังเกตตัวเองในเรื่องนี้

แต่พอได้อ่านการบ้านที่ฝากนักศึกษาไปเขียน ก็เริ่มเห็นอะไรบางอย่างที่ทะแม่งๆ

คือขอให้เค้าไปสังเกตตัวเองว่าสามารถควบคุมตัวเองในเรื่องของการนัดหมายและการวางแผนในการใช้เวลาของตัวเองได้อย่างไรบ้างในช่วงหนึ่งสัปดาห์ โดยให้เขียนงานมาส่ง 2 ครั้งต่อสัปดาห์ 

ปรากฎว่า นักศึกษาส่วนใหญ่ เขียนบันทึก ตัวเลข ว่าในแต่ละวันเค้าเข้าห้องเรียน กี่โมง เช่น 8.05 น., ช้าไป 10-15 นาที ตื่น 7.35 น. บางคนก็เขียนว่า วันเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา ไม่มีนัดกับใคร ก็เลยไม่ late 

เมื่อมีโอกาสได้ไปพบอ.วิศิษฐ์ และทีมงานที่เชียงราย ก็ได้เห็นสิ่งที่มันบังตาตัวเองอยู่ อ.วิศิษฐ์ฟังแป๊บเดียวก็บอกได้เลยว่า จุดอ่อนของสิ่งที่ทำอยู่คืออะไร อาจารย์บอกว่า ตอนนี้ประเด็นเรื่องเวลาถูกทำให้แปลกแยกออกไปจากชีวิตของนักศึกษา ดูเหมือนว่าไม่ได้เป็นประเด็นที่เกิดจากแรงบันดาลใจที่แรงพอ และ"เวลา"ถูกมองในมิติที่ plain แข็ง และ ไม่เป็นธรรมชาติ 

พอได้ฟังอาจารย์วิศิษฐ์ตั้งข้อสังเกตก็ได้คิดว่า อืมมม จริงด้วย.....มีนักศึกษาคนนึงก็เขียนข้อสังเกตมาว่า "มนุษย์เรามีชีวิตจิตใจ ไม่ใช่หุ่นยนต์ที่ถูกตั้งโปรแกรม มนุษย์มีอารมณ์ที่แปรปรวนง่าย ทำให้โปรแกรมที่วางไว้ไม่เป็นไปตามแผน....การวางแผนเป็นเรื่องที่ดีแต่ไม่ควรทำอย่างเอาเป็นเอาตาย..."

อ.วิศิษฐ์และทีมก็ได้เสนอว่า ลองให้นักศึกษาอ่านเรื่อง โมโม่ ดีมั้ย เพราะเป็นเรื่องที่พูดถึงเวลาในมิติที่หลากหลาย และพูดถึงการต่อสู้ของคนกับสังคมที่กำลังเปลียนแปลงไปสู่การใช้ชีวิตที่เร่งรีบมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว 

หลังจากกลับมาก็ได้หยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่าน และได้ตัดสินใจเลือกตัดทอนส่วนหนึ่งของหนังสือให้นักศึกษาได้อ่าน เป็นบทตอนที่กล่าวถึง "ผู้ชายสีเทา" (ผู้ต้องการเวลาของมนุษย์ และหาทางทำให้มนุษย์ "ประหยัดเวลา" โดยทำทุกอย่างด้วยความเร่งรีบมากขึ้น เพื่อสะสมเวลาไว้ใช้ในภายหลัง) เมื่อเริ่มเข้ามาในเมื่อง และทำให้ชีวิตของคนเริ่มเปลี่ยนแปลง 

ตัวเองได้แบ่งกลุ่มนศ. 13 คนเป็นกลุ่มย่อยกลุ่มละ 4-5 คน และนัดเค้ามานั่งคุยกันหลังเลิกเรียน ทีละกลุ่ม โดยให้เค้านั่งอ่าน โมโม่ บทดังกล่าว จากนั้นก็นั่งคุยกันว่า ได้อะไรจากการอ่านเรื่องนี้บ้าง แล้วชวนกันพูดคุยเรื่อง "เวลา" ในแง่มุมอื่นๆที่นอกเหนือไปจากนาฬิกาและปฏิทิน พูดคุยถึงการให้ความหมายของ "เวลา" "การเสียเวลา" และ พูดคุยกันถึง "ผู้ชายสีเทา" ว่าเค้าคิดว่า มันคืออะไร คือใคร และเค้าคิดอย่างไร คิดว่าทุกวันนี้มีผู้ชายสีเทาอยู่ในสังคมเราหรือไม่ แล้วก็พูดคุยกันถึงประโยคในหนังสือที่ว่า "เวลาคือชีวิต และชีวิตเราก็เป็นส่วนนึงของคนอื่น" 

อ้อ...ลืมบอกไปว่า ได้ลองใช้การพูดคุยกันผ่าน "ก้อนหินพูดได้" นะคะ 

ความรู้สึกตอนที่นั่งฟังนักศึกษานั้น ตัวเองรู้สึกได้ถึงพลังอะไรบางอย่างที่ออกมาจากกลุ่ม แตกต่างมากๆจากการบ้านที่เค้าเขียนมาส่งในช่วงก่อนหน้านี้ (ที่มันออกมาเป็นการสรุปตารางเวลาในแต่ละวัน) หลายคนตั้งข้อคิดเรื่องเวลาผ่านการเล่าประสบการณ์ชีวิตของตัวเอง เป็นการทบทวนการใช้ชีวิต การใช้เวลาของตัวเองในช่วงชีวิตที่ผ่านมา เช่น มีนศ.คนนึงเล่าให้กลุ่มฟังว่า เมื่อตอนเรียนมัธยม ด้วยความที่เป็นเด็กต่างจังหวัดเข้าไปเรียนที่กรุงเทพ ทำให้ตั้งใจว่าจะเรียนให้ดีที่สุด ก็เลยไม่ปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ อ่านหนังสือตลอดเวลา แม้กระทั่งขณะที่เดินอยู่ การบ้านวิชาศิลปะก็เอาไปนั่งทำในรถด้วย จนกระทั่งมีเพื่อนมาขอปรึกษาเค้าเรื่องแฟน เรื่องความรัก ทั้งๆที่ตัวเองก็ไม่เคยมีแฟน แต่ก็ได้แต่นั่งฟัง ครั้งนั้น เพื่อนเค้าขอบคุณเค้าอย่างมากที่สละเวลามานั่งฟังเค้า ตอนนั้น นักศึกษาคนนี้ถึงได้รู้ตัวและตกใจว่า เวลาของตัวเองมันมีค่ากับเพื่อนได้มากขนาดนั้นเลย

หลังจากนั่งพูดคุยกันจนพอสมควร ก่อนแยกย้ายก็ขอให้ทุกคนนั่งเขียนสิ่งที่ได้จากการพูดคุยในครั้งนั้น มีหลายๆข้อความที่อยากจะเอามาแบ่งปันตรงนี้นะคะ 

นศ.คนนึงที่เรียนซ้ำมาหลายปีเขียนว่า "นานแล้วที่ไม่ค่อยได้ใช้ความคิดที่สร้างสรรค์แบบนี้ มันทำให้รู้สึกว่า เอ้อ เนอะ!! เราก็มีศักยภาพในตัว ดึงความคิดดีดี จากสมองที่มีรอยหยักเท่าเดิมออกมาได้"

อีกคนนึงเขียนว่า "ความจริงวันนี้ตอน 4 โมงเย็น ก็รู้สึกเหมือนกันว่าทำไมอาจารย์ต้องนัดตอน 6 โมงด้วย ทั้งๆที่เป็นวันศุกร์ น่าจะได้กลับบ้านไปพักผ่อน แต่ตอนนี้รู้สึกเปลี่ยนไปแล้ว รู้สึกว่า การที่ได้มาพบอาจารย์ในวันนี้ "ได้เวลา" มากกว่า "เสียเวลา" เพราะมันทำให้หนูรู้ว่าหนูกลับบ้านไป late สัก 2 ชั่วโมง แต่หนูเห็นคุณค่าของเวลาที่เหลืออยู่ที่บ้านคืนนี้"

อีกคนเป็นผู้ชาย เขียนว่า "เรื่อง 'เวลา' 'การใช้เวลา' ทุกคนรู้อยู่แก่ใจอยู่แล้ว เป็น sense อย่างนึงที่เราน่าจะคิดเองได้ แต่บางทีเราอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เราไม่สามารถทำตามที่คิด หรือทำโดยไม่คิดก็มี แต่เมื่อไหร่ที่เราได้คิด หรือการที่เราได้คิดบ่อยๆ ผมว่าสิ่งนี้แหละครับที่มีค่าสำหรับผม ถึงบางทีเราอาจจะทำอย่างที่คิดได้ไม่หมด แต่ก็ขอให้ทำเป็นจำนวนครั้งมากๆ ทำบ่อยๆ รู้ตัวว่าทำ ผมว่าก็ดีกว่าไม่ทำเลย"

นั่นเป็นส่วนนึงของสิ่งที่นักศึกษาเขียนหลังจากพูดคุยกันเรื่องเวลา โดยมีบางตอนจากเรื่อง โมโม่ เป็นตัวจุดประเด็น 

อยากจะขอบพระคุณอาจารย์วิศิษฐ์และทีมงานมากๆเลยนะคะ ที่ได้ให้คำแนะนำที่มีคุณค่ามหาศาลกับการจัดการเรียนรู้ครั้งนี้ คือตัวเองได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในบรรยากาศการเรียนรู้ไปในทิศทางที่มีพลังมากขึ้น มีชีวิตชีวามากขึ้น ขอบคุณมากนะคะที่ทำให้นักศึกษาได้มีโอกาสที่ดีๆอย่างนี้

หลังจากการพูดคุยวันนี้นก็ได้ให้นักศึกษาลองไปเฝ้ามองดูตัวเอง ว่าในการใช้ชีวิตในช่วงหนึ่งสัปดาห์ต่อจากนั้น เค้าได้สังเกตเห็น หรือเรียนรู้ข้อคิดอะไรใหม่ๆเกี่ยวกับ "เวลา" บ้าง และขอให้เขียนมาเล่า หนึ่งครั้งต่อสัปดาห์

วันนี้มีนักศึกษาบางคนได้ส่งการบ้านนั้นมาแล้ว เท่าที่อ่านคร่าวๆรู้สึกว่า นักศึกษามีความสุขกับการเขียนครั้งนี้ เพราะแต่ละคนเขียนมาค่อนข้างยาว ไม่ฝืดเหมือนกับช่วงต้น 

สิ่งที่ได้พบอีกอย่างคือ ทีแรกเราคิดว่าการเขียนเป็นอุปสรรคของนักศึกษา แต่ที่จริงอุปสรรคของนักศึกษาอยู่ที่ตัวอาจารย์เองต่างหากที่จุดประเด็นไม่ถูกที่ 

นอกจากนั้นนะคะ พบว่าการเขียนเรื่องราวเหล่านี้ สำหรับนักศึกษาหลายๆคน กลายเป็นพื้นที่หนึ่ง ที่เค้าใช้ในการระบายความคับข้องใจบางอย่าง บางคนเขียนถึงความรู้สึกผิดที่ฝังใจอยู่ในอดีต และตั้งใจว่าในเมื่อเวลามันย้อนกลับคืนมาไม่ได้ก็จะทำเวลาในปัจจุบันให้ดี  บางคนก็กำลังรู้สึกคับข้องใจที่ถูกเพื่อนสงสัย ไม่ไว้ใจอะไรบางอย่าง แต่เค้าเชื่อว่าเวลาจะเป็นสิ่งที่พิสูจน์ ความจริง และเวลาจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้เค้าปล่อยวางความไม่พอใจที่มีต่อเพื่อนคนนั้นได้ในที่สุด

วันนี้รู้สึกว่าเขียนยาวมากแล้ว เอาไว้คราวหน้า หลังจากอ่านงานที่นักศึกษาส่งมาอย่างละเอียดแล้ว คงได้มีอะไรมาเล่าสู่กันฟังอีกนะคะ 

ธิดาวรรณ 





ห้องเรียนในอุดมคติของเคิร์ล


เคิร์ลมีประสบการณ์สอนหนังสือนักศึกษาระดับสูงกว่าปริญญาตรีขึ้นไป ในหัวเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการศึกษาและการพัฒนาในประเทศยากจน ประการแรกเขาไม่เห็นว่าการศึกษาก็คือการศึกษาเรื่องราวของระบบที่เป็นอยู่ เพื่อดำรงระบบที่เป็นอยู่ เขากลับเห็นว่า การศึกษาน่าจะเป็นหนทางให้สามารถหาทางออกไปจากระบบที่เป็นอยู่ไปสู่อะไรที่ดีกว่าได้ เขามองตัวเองว่า สามารถมองเห็นเสี้ยวส่วนหนึ่งของปัญหาและคำตอบการศึกษาในห้องเรียนของเขา เขาจึงเปิดให้นักศึกษาเข้ามาร่วมค้นคว้าและคิดหาคำตอบร่วมกัน


เคิร์ลเห็นว่า ห้องเรียนอุดมคติน่าจะมีสมาชิกเข้าร่วมเรียนประมาณ๑๕คน ซึ่งน่าจะเป็นตัวเลขที่ให้ความหลากหลาย ในขณะเดียวกัน ก็ไม่มากเกินที่จะสื่อสารถึงกันได้อย่างสนิทสนม เขาถือว่าตัวเขาเป็นเพียงคน ๆ หนึ่ง ที่เข้าร่วม เขาให้ชมรมที่เกิดขึ้นในห้องเป็นองค์กรจัดการตัวเอง ให้ร่วมกันกำหนดทิศทาง กำหนดประเด็น กำหนดวิธีการที่จะศึกษาหาความรู้ความเข้าใจร่วมกัน 


ในห้องของเขาไม่มีการสอบ แต่ละคนซึ่งมีความแตกต่างจะร่วมกันมีคุณูปการตามที่ตนถนัด ผลได้ ในห้องมักจะมีคนที่ได้เรียนรู้อะไรมากมาย ทั้งเนื้อหาและวิธีการอยู่โดยส่วนใหญ่ แน่นอนบางคนอาจจะมีคุณูปการน้อยกว่าคนอื่น ๆ บ้าง แต่เคิร์ลไม่เห็นความจำเป็นของการสอบและการให้คะแนน เขาเห็นว่า นั่นก็คือการสนับสนุนการแข่งขันและก็คือการสนับสนุนเครือข่ายของการเอารัดเอาเปรียบที่ดำรงอยู่ในระบบ


โดยสรุป การเรียนการสอนแบบนี้ หนึ่ง ความสัมพันธ์ครูศิษย์ดำรงอยู่ในความเท่าเทียมกัน ครูไม่ได้กอดความรู้ของตัวเองที่มีอยู่และปกป้องมันว่า มันไม่อาจจะผิดพลาดได้ และครูไม่ได้มีคำตอบถูกต้องอยู่แล้ว การสืบค้นหาคำตอบ ทำร่วมกันอย่างจริงแท้ โดยครูก็เปิดใจกับคำตอบที่จะโผล่ปรากฏขึ้นมา


สอง กระบวนการหาความรู้ คือสิ่งที่สำคัญที่สุด ในการเรียนรู้แบบนี้ ไม่ใช่ตัวเนื้อหาหรือความคิดอ่านที่เป็นผลพวงจากกระบวนการ เพราะถ้าจะมองสังคมมนุษย์แบบเกลียวพลวัตที่มีการพัฒนาและวิวัฒนาอยู่ตลอดเวลา การติดอยู่ที่คำตอบตายตัวหนึ่งใด ย่อมก่อให้เกิดปัญหาได้ โดยเฉพาะมันจะไปหนุนความเลวร้ายของวัตถุนิยมแบบแข่งขัน และเครือข่ายแห่งการเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งเคิร์ลเห็นว่า เป็นตัวร้ายที่มาทำลายสันติสุขในสังคมมนุษย์


สาม ในหลายกรณี จะมีประเด็นร้อนเกิดขึ้น ดังตัวอย่างเช่น ในเรื่องของความแตกต่างทางเชื้อชาติและศาสนา เป็นต้น ซึ่งมักจะเป็นความขัดแย้งที่รุนแรง อย่างน้อยก็ทางอารมณ์ความรู้สึก และทำให้การเรียนรู้ร่วมกันอย่างสันติ เป็นไปไม่ได้ เคิร์ลได้กล่าวถึงเรื่องนี้ และยังมองไม่เห็นทางออกชัดเจนนัก แต่ต่อมาในระยะหลัง ๆ ของชีวิต เคิร์ลได้ใช้เวลาในการทำงาน เพื่อสร้างสันติภาพในดินแดนที่มีความขัดแย้งอย่างรุนแรงมากยิ่งขึ้น จนกลายเป็นตัวหลักสำคัญในการหาคำตอบให้กับการแก้ปัญหาเหล่านี้ ได้อย่างมีความหวังและมีพลัง ดังจะนำเนื้อหาคัดย่อจากหนังสือที่เขาเขียนเล่มหนึ่ง มาเล่าให้ฟังดังต่อไปนี้



อีกหนทางหนึ่ง อันตอบสนองด้านบวกต่อความรุนแรงในปัจจุบันกาล

จากหนังสือชื่อ Another Way: Positive response to contemporary violence, 1995 ของเขา มี Tanya Glaser เขียนเนื้อหาย่อไว้ว่า

สงครามเย็นไม่ได้นำสันติภาพมาสู่โลกดังที่หวังเอาไว้ กลับเป็นว่า ความรุนแรงเกิดขึ้นทั่ว ๆ ไปอย่างปราศจากเป้าหมายหรือทิศทาง เคิร์ลมีข้อคิดว่า ความรุนแรงในปัจจุบันสมัยเกิดขึ้นจาก “ความแปลกแยก” วิถีทางการเมืองอย่างเดียวไม่สามารถหยุดยั้งความรุนแรงเช่นนี้ได้ สันติภาพที่ยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ จะต้องมี “การเปลี่ยนแปลงของหัวใจอย่างกว้างขวาง” ประสบการณ์ของเขาที่โยโกสลาเวีย ทำให้เขาเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงเช่นนั้นเป็นไปได้ และเขาก็ได้นำเสนอวิถีทางสร้างสันติแบบใหม่ขึ้นมาในยุคแห่งความแปลกแยก

และเคิร์ลได้พูดถึงสงครามเย็น กับธรรมชาติที่แท้จริงแห่งปัญหาของมันไว้ว่า


อดัม เคิร์ลคิดเห็นว่า ธรรมชาติของมนุษย์นั้น ไม่ได้รุนแรงมาโดยกำเนิด แต่ความรุนแรงของมนุษย์เกิดมาจากมายาคติสองประการ หรือมายาคติว่าด้วย Stability และ Permanence อาจจะแปลว่า “เสถียรภาพ” และ “นิจจะ” หรือ “ความเที่ยงแท้คงทน” มายาคติสองประการนี้ ทำให้เราคิดว่าเราสามารถเข้าถึงความสุขได้ อันหมายถึงความสุขอันเที่ยงแท้คงทน โดยเข้าไปจัดการกับเหตุการณ์และสิ่งแวดล้อม มากกว่าที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ความไม่มีสุขภายในตัวคน จึงได้ฉายออกไปข้างนอก ฉายไปยังโลก ความคับค้องใจ ด้วยเหตุที่ไม่มีความสุขนี้เอง ได้ก่อเกิดการกระทำที่รุนแรง ซึ่งทำให้เกิดสภาพของเหตุการณ์และสิ่งแวดล้อมที่ไม่อาจเข้าไปจัดการอะไรได้นี้มากขึ้น

เคิร์ลได้ทบทวนรูปแบบและที่มาของความขัดแย้งอันรุนแรงจากเริ่มแรกของประวัติศาสตร์แห่งมนุษย์มาจนถึงปัจจุบันกาล ธรรมชาติของมนุษย์นั้นก็เป็นเช่นเดิม แต่บริบทได้แปรเปลี่ยนไปอย่างมาก ดังนั้นธรรมชาติของความรุนแรงก็แปรเปลี่ยนไปด้วย นอกจากความรุนแรงของรัฏฐาธิปัตย์และการทหารระดับโลกแล้ว อีกด้านหนึ่งของที่มาแห่งความรุนแรงในสมัยนี้ ก็คือการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเทคโนโลยี เหตุปัจจัยเหล่านี้ ได้ทำให้ผู้คนแปลกแยกจากสังคม และจากความผูกพันร่วมกันของมนุษยชาติ ผู้คนที่แปลกแยก ความผูกพันกับผู้คนจะถูกทำให้เสียหาย ดังนั้นพวกเขาจะมีแนวโน้มที่ง่ายต่อการก่อเกิดความสัมพันธ์ที่ไม่มีสันติและเป็นความสัมพันธ์ที่รุนแรง


และเขาได้กล่าวถึงหนทางไปสู่สันติภาพว่า


คนทำงานเพื่อสันติไม่เพียงแสวงหาการยุติความขัดแย้ง หากยังพยายามก่อให้เกิดความสัมพันธ์อย่างสันติระหว่างคู่ขัดแย้ง เพื่อจะให้งานมีประสิทธิภาพ คนทำงานเพื่อสันติจะต้องบ่มเพาะความตื่นรู้อันเข้มแข็งต่อตัวของพวกเขาเอง และต่อความพัวพันเชื่อมโยงอย่างอิงอาศัยกันและกันของชีวิตทั้งหลาย คนทำงานเพื่อสันติจะต้องบ่มเพาะทัศนคติแห่งสันติวิถีในเรือนใจ สันติวิธีเป็นมากกว่า ความพยายามจะหลีกเลี่ยงความรุนแรง มันเป็น แบบแผนของอารมณ์ความรู้สึกในทิศทางของความรักเอาใจใส่และความห่วงใย

และได้กล่าวถึงทิศทางการช่วยเหลือที่เป็นอยู่และที่ควรจะเป็นว่า

ความช่วยเหลือต่าง ๆ เพื่อการพัฒนานั้น เรามักจะคิดกันว่า เป็นหนทางที่จะช่วยก่อให้เกิดสันติภาพ เพราะมันไปช่วยให้ก่อเกิดความมั่งคั่ง เคิร์ลชี้ให้เห็นว่า ความช่วยเหลือเพื่อให้เกิดการพัฒนาเหล่านี้ไม่ได้ก่อให้ประโยชน์แก่มวลชนผู้ยากไร้แต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม มันยังเป็นโทษแก่พวกเขาอีกด้วย หากความช่วยเหลือจะเป็นประโยชน์ในการสร้างสันติภาพแล้วไซร้ เคิร์ลนำเสนอว่า การพัฒนาควรจะมุ่งไปที่การให้ความมั่นใจว่า ผู้คนจะมีปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นในการดำรงชีวิต และพื้นฐานจำเป็นเพื่อการเจริญงอกงาม ทำอย่างไร จะมีสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย จะมีชีวิตทางวัฒนธรรมที่ร่ำรวยและพึงพอใจ  และมีการกระตุ้นให้เกิดความงอกงามและพัฒนาการในความเป็นมนุษย์ยิ่ง ๆ ขึ้นไป

บทสรุปคือบทเริ่มเรื่อง

เคิร์ลแบ่งการเข้าถึงเอกลักษณ์แบบรู้เท่าทันออกเป็นสองแบบ คือ Mystic กับ Militant หรือแบบนักกิจกรรมสังคมกับแบบนักภาวนา พวกแรกแสดงออกผ่านตามต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม พวกหลังต้องการชำระตัวเองให้บริสุทธิ์ก่อน สำหรับเคิร์ลแล้ว เขาเห็นว่า เมื่อความรู้เท่าทันเติบโตเต็มที่ บุคลิกทั้งสองแบบจะมาบรรจบกันในตัวคน ดังเช่นที่เกิดขึ้นในกรณีของคานธี

ผมคิดว่าทางออกของโลกและของสังคมไทยเช่นกัน ก็คือการหลอมรวมสองวิถีนี้เข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นงานทางด้านสันติวิธีหรืองานด้านการศึกษาของเคิร์ล กล่าวคือสาระสำคัญหรือหัวใจของมันต่างก็มุ่งชี้ไปที่การพัฒนาทางจิต แต่การพัฒนาทางจิตที่ว่านี้ไม่ใช่เพียงการนั่งหลับตา และสร้างความสงบในเรือนใจ แน่นอนความสงบในเรือนใจต้องสร้างขึ้นมาด้วย แต่ทั้งหมดต้องเอากลับไปตอบคำถามทางการอยู่ร่วมกันเป็นสังคมของมนุษย์ได้ด้วย วิถีแห่งการหลุดพ้นจึงไม่ใช่วิถีของปัจเจกบุคคลในการปฏิบัติธรรมเท่านั้น หากจะต้องเป็นการเต้นรำอย่างงดงามระหว่างการพัฒนาด้านในของตัวเอง และการทำงานเพื่อลดความรุนแรงทางโครงสร้างของสังคมมนุษย์

โจทย์ของเคิร์ลอยู่ที่การรู้เท่าทัน ทำอย่างไร “ความรู้เท่าทัน” นี้จะกลายมาเป็นคุณสมบัติปกติของสมาชิกในสังคมโลก เคิร์ลกำลังพูดถึงตัวสภาวะทางจิต ในฐานะที่เขาเป็นเควกเก้อ อ้นเป็นศริสตศาสนิกอันก้าวหน้าที่สุดนิกายหนึ่ง ที่หนทางเข้าถึงพระเจ้าของพวกเขาเป็นไปอย่างเท่าเทียม เที่ยงตรง และให้ความสำคัญกับการใคร่ครวญและสงบเงียบ พร้อม ๆ ไปกับ “การพูดความจริงกับอำนาจ” เขาจึงมองเห็นว่า งานที่แท้จริง ทั้งทางการศึกษาและทางการสร้างสรรค์สันติภาพ จึงอยู่ที่การพัฒนาวุฒิภาวะทางจิต หรือการพัฒนาทางจิตวิญญาณ หรือจิตตปัญญาศึกษา เมื่อพัฒนาอย่างเต็มที่แล้ว ก็จะเกิดความรู้เท่าทัน อันจะช่วยประคับประคอง “ความเป็นปกติ” ให้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสภาวะจิต อันก่อให้เกิดความรุนแรง

เมื่อกลับมาอ่านหนังสือของเขาอีกครั้ง ก็ยังพบว่า ถ้อยคำของเขายังล้ำสมัย ถ้อยคำของเขายังมีความหมาย แม้ว่าหนังสือบางเล่มของเขาจะเขียนมากว่ายี่สิบปีแล้วก็ตาม

อีกประการหนึ่ง เมื่อศึกษาดูลำดับญาติของเขาในอังกฤษ ก็จะเห็นว่า บรรพบุรุษและบรรพสตรีของเขา เป็นกลุ่มปัญญาชนของอังกฤษ ที่คิดการณ์ก้าวล้ำไปในอนาคตทั้งนั้น อ้นนี้ก่อให้เกิดกำลังใจอย่างยิ่งว่า งานของคนแต่ละรุ่นคน ไม่ได้เป็นไปโดยเปล่าประโยชน์ มันได้มีการส่งถอดงานข้ามรุ่นคน คิดถึงการมองมิติกาลเวลาของสมเด็จ องค์ทะไลลามะ ที่ท่านกล่าวว่า การทำความดีงาม การสร้างสรรค์สังคม ไม่อาจคิดสั้น ๆ ได้ หากจะต้องคิดกันแบบข้ามชาติข้ามภพ คิดกันในช่วงกาลเวลาของห้าสิบชาติภพขึ้นไป ด้วยเหตุนี้ บางทีงานบางอย่างที่ดูเหมือนไม่ขยับเขยื้อนนั้น เมื่อเปลี่ยนกรอบเวลาดู เราก็อาจจะเห็นความเคลื่อนไหวอย่างมีชีวิตชีวาก็ได้

คนที่มีความรู้เท่าทันที่อย่างเคิร์ลต้องการนั้น เมื่อผนวกความคิดของกอเตนเรื่องลำดับพัฒนาการของมนุษย์ โดยเฉพาะในเรื่อง Culture Creative หรือพวกสร้างสรรค์วัฒนธรรมของ พอล เรย์ เราจะเห็นจากตัวเลขที่ชัดเจนของพอล เรย์ว่า จากทศวรรษ ๑๙๘๐ ซึ่งตัวเลขของคนพวกนี้จะอยู่ที่หนึ่งหรือสองเปอร์เซ็นต์นั้น แต่เวลานี้ในปี ๒๐๐๖ ในยุโรปและสหรัฐอเมริกาอาจจะอยู่ที่ ๓๐ เปอร์เซนต์แล้วก็ได้ และกำลังเพิ่มขึ้นประมาณหนึ่งเปอร์เซนต์ทุกปี บรรดาคนเหล่านี้คือผู้คนที่ตื่นรู้ สนใจผสมผสานการพัฒนาด้านในเข้ากับการแก้ปัญหาสังคมมนุษย์ด้านนอก อย่างเอามาบรรสานสอดคล้องเป็นเรื่องเดียวกัน 

เราจะเห็นได้ว่า อนาคตมีความหวัง หากเราทั้งมวลร่วมกันแสวงหาหนทางชีวิตที่ตื่นรู้ พร้อม ๆ ไปกับการทำงานเพื่อสร้างสรรค์สังคมอันยุติธรรมและมีสันติภาวะ เมื่อเป็นเช่นนี้ การตายของอดัม เคิร์ล ก็จะไม่ใช่การสิ้นสุด หากทางกลับคือการเดินทางต่อ และบทสรุปก็คือบทเริ่มเรื่องใหม่ ที่พวกเราจะช่วยกันสรรค์สร้างสืบเนื่องต่อไป ใช่หรือไม่