วันเสาร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2552

VDO ชุด อิสระในความสัมพันธ์

อิสระในความสัมพันธ์ครั้งที่ห้า ที่ห้องนั่งเล่น









วันอังคารที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ครูผู้เปราะบาง

ครูผู้เปราะบาง


ผมกำลังเตรียมงานสำหรับค่ายเรียนรู้ “สมองสู่จิตวิวัฒน์” เมื่อวานนี้ ก็เพิ่งจบค่ายเรียนรู้ของมหกรรมกระบวนกร แต่ทั้งหมดนี้ ก็เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับเรื่องราวที่อยากจะเขียนให้ปาจารยสาร บทความที่จะส่งให้คนอื่น ปัจจุบัน ก็มักจะเบี้ยวเสียเป็นส่วนใหญ่ ไม่ค่อยสนใจเขียนบทความเท่าไรแล้วครับ อยากทุ่มเทกับกระบวนการเรียนรู้มากกว่า และหรือไม่ ก็สะสมข้อเขียนเอาไว้พิมพ์เป็นเล่มเลย


เร็ว ๆ นี้ ผมก็นึกถึงครูประจำชั้นของผมและเพื่อน ๆ ที่อยู่ห้อง ๘๖ เรืองเหลืองมาด้วยกัน ที่โรงเรียนเตรียมอุดมครับ ครูชื่อครูฉลวย คือพอมาเป็นครูประจำชั้นของเราได้ไม่ช้านาน ครูของเราก็ไปคลอดลูก แล้วพวกเราก็ตามกันไปเยี่ยม คือปกติในชีวิตนักเรียน เรามักจะพบปะ เจอะเจอ ครูที่เข้มแข็ง สวยพริ้ง หล่อเข้มแข็ง ตลอดเวลา พร้อมกับอะไรต่อะไรทุกอย่าง เราไม่ค่อยเห็น “ความเปราะบาง” ของครู เราเห็นแต่ครูที่ไม่มีวันหักพังลงมาได้ เราก็เลย ถอยห่าง และไม่เชื่อมโยง แต่กับครูฉลวยคนนี้ ก็เด็ก ๆ ห้องนั้น ปีนั้น เรายังเชื่อมโยงกับครูอยู่เลยครับ ผมเองไม่มีโอกาสไปเจอครูอีก แต่ก็ได้แต่พยายามประสานกับเพื่อนว่า จะส่งครูมาเที่ยวเชียงรายได้ไหม ก็รอ ๆ อยู่ครับ


ตอนนี้ ที่มูลนิธิสังคมวิวัฒน์ของเชียงราย ก็มีโครงการ “ฤดูกาลของชีวิต” เป็นโครงการดูแลผู้คนที่ผ่านความทุกข์ยาก อย่างเช่นผู้ป่วยระยะสุดท้าย ก็ได้ทำงานกับจุ๋มจิ๋มครับ จุ๋มคือ หนานจุ๋ม บวชเรียนมาแล้ว ลุ่มลึกทางธรรมพอควร ตอนนี้ สมชายมีค่ายภาวนาแบบมิติใหม่กับสถาบันขวัญเมืองด้วย กำลังจะเริ่มกันวันนี้ด้วยเหมือนกันครับ ส่วนจิ๋มนั้น ป่วยเป็นมะเร็งปอด หายไปทีหนึ่งแล้ว และมาเกิดใหม่อีกครั้ง แต่ครั้งหลังนี้ เธอได้เสริมมิติทางจิตวิญญาณมารักษาตัวเองอย่างมีนัยยะสำคัญ เราเห็นเธอเบิกบานขึ้นทุกครั้งที่มาร่วมกันสร้างสรรค์กระบวนการเรียนรู้ มาร่วมกันช่วยเหลือผู้อื่น เธอมาเริ่มจากเข้าร่วมงานค่ายการเรียนรู้ต่าง ๆ ของเรา เกือบจะทุกรายการเลย ในที่สุด เธอก็ลุกขึ้นมาเตรียมจัดทำค่ายการเรียนรู้ และโครงการ “ฤดูกาลของชีวิต” เพื่อช่วยเหลือผู้คนในฤดูกาลแห่งความทุกข์ยากทั้งหลาย


เรื่องของเรื่อง จิ๋มมาเล่าให้ฟังว่า มีครูคนหนึ่งเป็นมะเร็ง เธอว่า คนเป็นมะเร็งจะสัมผัสกันได้ และจะเปิดหัวใจสื่อสารกันได้ง่ายกว่าคนนอก จิ๋มมีร้านอาหารเจ ครูคนนี้ก็มากินอาหารที่นี่ ครั้งหนึ่ง ที่เห็นผู้หญิงคนนี้ หงุดหงิด จิ๋มก็เข้าไปแล้วบอกว่า จิ๋มเป็นโรคมะเร็งเหมือนกัน แล้วเธอก็ถามว่า รักษาตัวอย่างไร และแล้วการสนทนาก็เริ่มต้นขึ้น เธอเป็นครู เมื่อเธอเป็นมะเร็ง เพื่อน ๆ และญาติ ๆ ก็แนะว่าให้หยุดงาน พักผ่อนรักษาตัว แต่จิ๋มแนะนำต่างออกไป จิ๋มแนะว่า ให้กลับไปทำงานตามเดิม ครูก็เชื่อ แปลกประหลาดมาก การกลับไปทำงานครั้งนี้ พฤติกรรมของลูกศิษย์ประถมตัวเล็ก ๆ ของเธอแปรเปลี่ยนไป พวกเขาช่วยกันดูแลครู และเลิกเกเร ก่อกวน ทำให้ครูรำคาญเหมือนเมื่อก่อน อันนี้ น่าสนใจมาก


อีกเรื่องหนึ่งของความเปราะบาง ลูกสาวเป็น Facilitator วอยซ์ไดอะล็อค Facilitator เป็นคำเรียกขาน คนที่เป็นผู้อำนวยการ ให้เกิดการเรียนรู้ในเรื่องวอยซ์ไดอะล็อค กับคนที่สนใจ จะพัฒนาตัวเอง ทำความเข้าใจเรื่องราวภายในของตัวเอง เพื่อก่อร่างความเต็มบริบูรณ์ให้แก่ชีวิตด้านใน อีกคำหนึ่ง ที่เรียกขานวอยซ์ไดอะล็อค ก็คือ การสนทนากับเสียงภายใน ผมตั้งชื่ออีกชื่อหนึ่ง และทำเป็นค่ายแห่งการเรียนรู้ด้วย โดยจัดสี่วันสามคืนทุก ๆ สามเดือน โดยเรียกว่า “อิสระในความสัมพันธ์”


ลูกสาวที่เป็นผู้อำนวยการวอยซ์ไดอะล็อคคนนี้ มีพ่อเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย กำลังจะตาย ที่ผ่านมา พ่อคือผู้เข้มแข็งโดยตลอดมา ไม่เคยอ่อนแอให้เห็นเลย ไม่เคยเปราะบางให้เห็นเลย แต่สิ่งที่ตามมากับความไม่ยินยอมเปราะบาง ก็คือ ความห่างเหิน ระยะห่างที่มีระหว่างสองพ่อลูกนี้มาตลอดเวลา แต่พ่อก็กำลังจะตาย ตัวเองก็เคยเห็น เคยประสบมาว่า คนที่เข้มแข็งตลอดกาลเหล่านี้ หากมีเวลาให้ได้เปิดออกกับความเปราะบาง เปิดออกให้ตระหนักรู้ รับรู้ รู้จักความเปราะบางภายในของตัวเอง เขาจะสามารถพบขุมทรัพย์กองใหญ่ที่ตนเองทอดทิ้งไป อย่างน่าเสียดาย แล้วเธอจะไม่เปิดขุมทรัพย์กองนี้ให้ผู้เป็นพ่อได้รับรู้ รับทราบเลยหรือ และเธอเอง ก็ปรารถนาอย่างยิ่งยวดที่จะได้สัมผัสดวงใจของพ่ออย่างแท้จริง ในที่สุด เธอก็ตัดสินใจ ในที่สุดการสื่อสารระหว่างทั้งสองก็เปิดออก ความเปราะบางนำไปสู่ความสนิทแนบที่หัวใจสองดวงจะอิงแอบ มอบความรักให้แก่กันและกันยามจากลา


อีกกรณีหนึี่ง ใกล้ตัวมาก ๆ เกิดขึ้นกับเพื่อนรักและลูกสาวของเขา ลูกสาวเห็นพ่อแข็งแกร่ง ถูกต้องในทุกเรื่อง ไม่เคยเปราะบางให้เห็น เห็นพ่อเป็นเทพเจ้า แต่แล้วทำไมพ่อจึงไม่เข้าใจเธอ หากเป็นเช่นนี้ พ่อก็ไม่ได้แน่จริง เก่งจริง ซินะ มีอยู่คราวหนึ่ง ที่พ่อเริ่มไปทำค่ายเรียนรู้โรงเรียนพ่อแม่ใหม่ ๆ ได้มีโอกาสพาลูกสาวไปด้วย ลูกสาวก็เปิดใจบอกกล่าวผู้เป็นพ่อตรง ๆ ว่า ไม่เคยเข้าใจเธอเลย ไม่เคยฟังเสียงเธออย่างจริง ๆ จัง ๆ ไม่เคยเข้าถึงเสียงภายในของเธอเลย ก็เป็นคร้ังแรกที่พ่อเปราะบาง เปิดเผยตัวตน ยอมรับความผิดพลาดและความล้มเหลวในการเลี้ยงดูลูกสาว สองพ่อลูกสามารถกลับมาเชื่อมโยงกันอีกครั้งหนึ่ง หลังจากนั้น ลูกสาวก็ค้นพบเสียงของตัวเอง และโตวันโตคืนทางจิตวิญญาณ


ในวอยซ์ไดอะล็อค อันเป็นวิถีทางหนึ่งของการเข้าไปศึกษาโลกภายในของตัวเอง โลกภายในที่ประกอบขึ้นด้วยเสียงภายในต่าง ๆ จากตัวตนต่าง ๆ ตัวตนอาจจะหมายถึงบุคลิกภาพต่าง ๆ  อาจจะหมายถึงวงจรสมองต่าง ๆ ที่เราสร้างขึ้นไว้เพื่อตอบสนองกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา ในบรรดาตัวตนต่าง ๆ บุคลิกภาพต่าง ๆ เหล่านี้ ตัวตนหนึ่ง ที่ดร. สโตน สามีภรรยาซึ่งเป็นดร.ทั้งคู่ ได้ให้ความสำคัญมาก ก็คือ เด็กน้อย หรือ vulnerable child หรือ เด็กน้อยผู้เปราะบาง สโตนสามีภรรยาว่า เด็กน้อยคนนี้ ได้นำพาลายนิ้วมือแห่งจิต (psychic fingerprint) ของเรามาด้วย ในเด็กน้อย จะมีตัวตนดั้งเดิมของเราดำรงอยู่ เด็กน้อยจะรู้ว่า จริง ๆ เราชอบอะไรไม่ชอบอะไร อะไรจะหล่อเลี้ยงดวงวิญญาณของเรา อะไรจะทำให้ดวงวิญญาณของเราเหือดแห้ง ไร้พลัง นอกจากนี้ ที่สำคัญยิ่ง 


เด็กน้อยยังสามารถที่จะให้และรับความสนิทสนม คือมีความสามารถที่จะรักนั้นเอง เมื่อตัวตนอื่น ๆ ที่ภาพภายนอกคือความเข้มแข็งเข้ามาปกป้องเด็กน้อย และกันเด็กน้อยเอาไว้ ไม่ให้เด็กน้อยต้องเจ็บปวด ชีวิตของเราก็เริ่มเย็นชา และห่างเหินจากผู้คน เราหมดความสามารถที่จะสนิทสนมกับใคร เราจะเหงาหงอย และชีวิตก็จะจืดชืดน่าเบื่อ นอกจากนี้ เด็กน้อยยังมีความกล้าหาญ กล้าเผชิญ จะทึ่งต่อสรรพสิ่ง ผู้คน ทำให้การเรียนรู้เกิดขึ้นตลอดเวลา บางทีตัวตนผู้เข้มแข็งอื่น ๆ ก็หยุดเรียนรู้ เพราะคิดว่า รู้แล้ว ในขณะที่เด็กน้อย หากยังอยู่กับเรา เราก็จะยังเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เปิดใจอย่างกล้าหาญที่จะก้าวล่วงไปสู่ดินแดนแห่งความไม่รู้ สุดท้าย เด็กน้อย ยังมีแผนที่การเดินทางด้านในของจิตวิญญาณของเรา หากเราได้กลับมาสัมผัสกับเด็กน้อยอีกครั้ง การเดินทางด้านในอย่างจริงจังของเราก็จะเริ่มขึ้น


แต่ในชีวิตครู เรารีบกลบเกลื่อนความเป็นไปของเด็กน้อยเร็วเกินไป เราคงยังจดจำได้ หากมีโอกาสได้พบกับครูที่เพิ่มเข้าใหม่ เมื่อเราเป็นเด็กนักเรียน เราจะรักครูคนนั้นทันที ครูใหม่ผู้เปราะบาง บางทีเธอก็อาจจะร้องไห้ต่อหน้าเด็กนักเรียน เมื่อเธอเปราะบาง และไม่รู้จะจัดการกับสถานการณ์ในห้องเรียนอย่างไร แต่พอครูอยู่ไปนาน ๆ ครูผู้เปราะบางก็หายตัวไป กลายเป็นครูผู้สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ทุกอย่าง ครูกับเด็กก็เริ่มห่างเหิน สายใยที่เคยเชื่อมโยงถึงกันก็ขาดสะบั้นลง


Parker J. Palmer เขียนไว้ใน The Courage to Teach ว่า องค์ประกอบในการเป็นครูที่ดี ครูที่แท้มีอยู่สามประการ หนึ่ง คือ วิชา หรือองค์ความรู้ สองคือ วิธีการสอน สามคือตัวตนของครู ว่า ครูจะเข้าถึงโลกภายในของตัวเอง และสามารถสร้างความกลมกลืนกับโลกภายในของตัวเองได้มากน้อยแค่ไหน แน่นอน พามเมอร์ให้ความสำคัญกับองค์ประกอบที่สามมากที่สุด หากไม่ผ่านในองค์ประกอบที่สาม องค์ประกอบสองประการแรกก็ไร้พลัง


การทำงานกับตัวตน ก็คือการเข้าไปทำงานกับภูมิทัศน์แห่งโลกภายใน จะเห็นได้ว่า สิ่งที่พามเมอร์พูดกับสโตนพูดเป็นเรื่องที่สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน พามเมอร์ว่า เราต้องกล้าเข้าไปสัมผัสความเปราะบางและเข้าไปทำงานกับมัน มิฉะนั้น เราก็จะห่างเหินจากนักเรียน ห่างเหินจากวิชา หรือองค์ความรู้ ที่เราสอน เราก็จะสอนอย่างเป็นหุ่นยนต์ อันปราศจากชีวิต สิ่งที่เราสอนก็จะไม่มีผลกระทบอันใดกับนักเรียนที่เราสอน ความกล้าที่จะสอน ก็คือ ความกล้าที่จะเปราะบาง สโตนสองสามีภรรยาว่า ความเปราะบางของเด็กน้อยไม่ใช่ความอ่อนแอ หากเป็นความกล้าหาญจะที่จะสัมผัสสัมพันธ์กับผู้คนและสรรพสิ่ง กล้านำหัวใจออกมาสัมผัสกับสิ่งต่าง ๆ โดยตรงอย่างไม่สะทกสะท้าน หากต้องการเข้าใจเรื่องนี้อย่างลึกซึ้ง เราคงต้องหาทางเรียนรู้ เรื่องราวของโลกภายใน และบทบาทของเด็กน้อยในชีวิตของครูให้มากกว่านี้ บทความชิ้นนี้ คงทำหน้าที่ได้แค่เป็นเพียงแผนที่นำทางเบื้องต้นเท่านั้น สวัสดี









วันพฤหัสบดีที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

สู่ความเป็นเซียน

สู่ความเป็นเซียน (๑)

วิศิษฐ์ วังวิญญู

yourservant007@yahoo.com


จากหนังสือ Mastery; The Keys to Success and Long-Term Fulfillment 

by George Leonard  เขาได้กล่าวไว้ว่า


“We fail to realize that mastery is not about perfection. It’s about a process, a journey. The master is the one who stays on the path day after day, year after year. The master is the one who is willing to try, and fail, and try again, for as long as he or she lives.” 


“เราล้มเหลวที่จะประจักษ์ว่า การเป็นเซียนไม่ใช่ความสมบูรณ์แบบ แต่มันเป็นกระบวนการ เป็นการเดินทาง เซียนเป็นคน ๆ หนึ่ง ที่พยายามดำรงอยู่ในเส้นทาง วันแล้ววันเล่า ปีแล้วปีเล่า เซียนคือ คน ๆ นั้นที่เต็มใจจะลอง จะล้ม และลองแล้วลองอีก ตราบใดที่เขาหรือเธอ ยังมีชีวิตอยู่”


ผมพบว่า งานกระบวนกร(วิทยากรกระบวนการ) ก็เป็นอะไรที่เรียกร้องต้องการ ให้กระบวนกรและผู้ฝึกเป็นกระบวนกร ขวนขวายที่จะดำเนินในเส้นทางของการก้าวสู่ความเป็นนาย นายงานของตัวเอง คืองานกิจกรรมการเรียนรู้ ในแนวทางของจิตวิวัฒน์ หรือ แนวทางการเรียนรู้ด้วยใจอันใคร่ครวญ จอช เลียวนาร์ด ได้เสนอแนวทางการฝึกฝนตัวเองเพื่อความเป็นเซียน ทีน้ีผมเห็นว่า เราจะเรียนจากเลียวนาร์ดได้ ผมจะลองเล่าบางประเด็นท่ีเขาสื่อดูนะครับ


เขาว่า มันมีอุปสรรค หรือหลุมพราง ที่ขัดขวางการพัฒนาไปสู่ความเป็นนาย หรือเป็นเซียน ในเรื่องใด ๆ ก็ตาม ที่เราปรารถนา เขากล่าวถึงอุปสรรคสามประการด้วยกัน


หนึ่ง ก็คือ การเข้าไปสัมผัสอะไรอย่างฉาบฉวย ทำนองชอปปิ้ง มากกว่า ที่จะจริงจังกับอะไร ตรุงปะ จะใช้คำว่า spiritual materialism หรือ วัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ คือเราพากันเสพเร่ืองราวทางจิตวิญญาณ ประสบการณ์ทางจิตวิญญาณ เหมือนเป็นวัตถุ มากกว่า ที่จะเข้าไปดำรงอยู่ในประสบการณ์นั้น ๆ อย่างจริงจัง เหมือนชอปปิ้ง คนไปสำนักปฏิบัติธรรมมา ก็จะเอารูปมาอวดกัน เอาหนังสือมาอวดกัน ที่บ้านก็มีร่องรอยของอาจารย์คนโน้นคนนี้ เต็มไปหมด แต่ปราศจากซึี่งการปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจัง


สอง หลุมพรางก็คือคนประเภทต้องการผลได้แบบเร็ว ๆ แบบบะหมี่สำเร็จรูป พอทำอะไรสักพัก ไม่ได้ผลก็เลิกเลย สรุปเอาว่า ไม่ได้เรื่อง ขาดความอดทน ไม่เคยมีแม่แบบอยู่ในใจว่า ของดี ของวิเศษต้องใช้ความอดทน ต้องอยู่กับการเดินทาง อยู่กับกระบวนการ จึงจะได้สิ่งดี ๆ นั้นมา


สาม ประมาณว่า แค่นี้ก็ดีแล้ว จะเอาอะไรไปมากกว่านี้ คือ อาจจะผ่านการฝึกฝนมาระดับหนึ่ง แล้วมาติดเพดาน คือไปกว่านี้ยังไม่ได้ มันหยุดชะงัก มันไปได้แค่นี้เอง ทำเท่าไร มันก็ไม่ก้าวหน้าไปกว่านี้แล้ว ณ ขณะนั้น ๆ คือ ไปได้ในระดับพื้นฐานเท่านั้น อาจจะมีเหตุผลว่า ก็เราไม่ใช่นักกีฬานี่ จะเอาอะไรกันมากมาย เราไม่ใช่มืออาชีพนี่ แค่นี้พอแล้วล่ะ ครับพอแล้ว 


แต่เซียนหยุดตรงนั้นไม่ได้ เซียนต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับเพดาน แล้วก็ยังมีศรัทธาเชื่อมั่น ยังบุกบั่นพัฒนาตัวเองอยู่อย่างไม่หยุดยั้ง วิธีที่จะทำอย่างนั้นได้อย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดยั้งแม้ว่า จะไปเจอชานพักของบันได หลาย ๆ ชานพักข้างหน้า และบางทีมันก็เป็นชานพักของบันไดที่ยาวเอามาก ๆ ไม่รู้ว่า จะได้ไต่ระดับขึ้นไปอีกเมื่อไรกัน เขาหรือเธอก็จะไม่ยอมหยุดยั้งอยู่ จะทำเช่นนั้นได้ เขาต้องรัก “การเดินทาง” ละวางผลได้ไว้ก่อน ละวางเป้าหมายไว้ก่อน หากมีความสุขดื่มด่ำกับการเดินทาง ดื่มด่ำกับตัวกระบวนการ มากกว่า ที่จะหวังผลได้ หวังจะไปถึงเป้าหมาย อันอาจคล้ายทำว่า มรรคา หรือ ทางเดิน ในความหมายของเต๋า ที่แปลว่า “ทาง”


จอช เลียวนาร์ด นอกจากจะเป็นผู้อำนวยการของอีซาเลนแล้ว ยังฝึกฝนอาคิโด(ศิลปะต่อสู้ป้องกันตัวอย่างหนึี่ง)อย่างต่อเนื่อง เป็นเร่ืองเป็นราว สิ่งที่เขาเขียนมาจากสัมผัสจริง ประสบการณ์จริง ส่วนอีซาเลน ก็เป็นคล้ายอาศรมทางเลือกในอเมริกา ที่นี่ เป็นที่พบปะของนักคิดและคนทำงานกระบวนการทางกระบวนทัศน์ใหม่ หรือ เพื่อจิตวิวัฒน์หลาย ๆ คน 


เวลานี้ กระบวนการสุนทรียสนทนา กระบวนการที่ใช้แนวทางของจิตตปัญญาศึกษา ได้มีการนิยมนำไปปฏิบัติใช้กันอย่างแพร่หลาย มีการเรียนรู้ฝึกฝนปฏิบัติเพื่อจะได้เป็นกระบวนกรกันมากมาย ก็เกิดความห่วงใยว่า จะไปจับเฉพาะเนื้อหาทางความคิด ไปจับเฉพาะเนื้อหาทางองค์ความรู้ แต่ที่จริง ความรู้แขนงนี้ ต้องเป็นปัญญาปฏิบัติ ต้องเป็นศิลปะ ด้วยเท่านั้น ต้องเป็น “การเดินทาง” ที่เราต้องผ่านให้เป็นประสบการณ์ตรงของตัวเราเอง และเราอาจจะไปติดหล่มสามประการที่กล่าวมาข้างต้นนี้ได้ หากเราไม่มีโอกาสได้ใคร่ครวญอย่างลุ่มลึก หากเรายังต้องการเพียงบะหมี่สำเร็จรูป หรือคิดว่า เรารู้แล้วเพียงแต่ทางพุทธิปัญญา(intellect) ทำอย่างไร เราจะช่วยกันและกัน ให้ไปพ้นหล่มหรือหลุมพรางต่าง ๆ ดังกล่าวมาได้


วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

ภาวนาและการต่อต้าน

เสขิยธรรม ฉบับ ๕๑

วิศิษฐ์ วังวิญญู แปล
คัดจากเรื่อง “Contemplation and Resistance” ในนิตยสาร Win
ตีพิมพ์ครั้งแรกใน ปาจารยสารฯ



ข้

 

างล่างนี้เป็นบันทึกคำสนทนาที่ปารีส ๔ มกราคม ๒๕๑๖ ระหว่าง ติช นัท ฮันห์ กับ แดน เบอริแกน คนหนึ่งเป็นอาจารย์เซ็น อีกคนหนึ่งเป็นบาทหลวงคาทอลิค อันเป็นที่รู้จักกันดีในการเผารายชื่อผู้เข้ารับการเกณฑ์ทหาร และเป็นผู้ไม่ยอมรายงานตัวต่อการจำคุกตรงตามหมายกำหนดในเวลานั้น พอดีกับสหรัฐอเมริกากำลังฉลองคริสต์มาสอยู่ด้วยการทิ้งระเบิดคุกคามชาวเวียดนาม การหยุดยิงที่มีความหวังว่าจะคงไว้หลายเดือน กลับแตกกระจายดุจเดียวกับโรงพยาบาลบาชมายในฮานอย แดนมาถึงปารีสได้ไม่ถึงสองอาทิตย์ดี หลังจากที่น้องชายของเขาได้รับการปลดปล่อยออกจากคุก และหลังจากการไปเป็นประจักษ์พยานต่อการก่อสงครามครั้งใหม่ที่บันไดของโบสถ์นักบุญแฟททริกคาทีคัล ในนิวยอร์ค (คาร์ดินาล ไม่อยู่ไปเยี่ยมกองทัพทหาร)

          ด้วยการเป็นกวี อันมีความผูกพันอยู่กับอหิงสธรรม ท่านทั้งสองจึงได้รู้จักกันมาเป็นเวลานานพอสมควร แต่การจะได้มาอยู่ใกล้ชิดกัน ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน พูดคุยกันและหุงหาอาหารด้วยกัน ในเวลาวิกฤตเช่นนี้ ย่อมเป็นเวลาอันจะอำนวยให้เกิดความเข้าใจและความใกล้ชิดกันเป็นพิเศษ และคิดว่าการใช้เครื่องบันทึกเสียงคงจะไม่ทำลายบรรยากาศอันมีสุขุมรสเช่นนี้ไปเสีย

          ในบทสนทนานี้ มีหลายตอนที่ขาดหายไป ไม่ใช่ถ้อยคำ หากเป็นความสงบเงียบระหว่างเขาทั้งสอง ระหว่างการเอ่ยนำของแดน กับการตอบรับของนัทฮันห์ครั้งแรกเป็นความเงียบได้ ๑๐ นาที ความเงียบสนิท จนกระทั่งได้ยินเสียงแผ่ว ๆ ของเครื่องบันทึกเสียงได้ และความเงียบในส่วนอื่น ๆ ของการสนทนา ทำให้ท่านทั้งสองเป็น เควกเกอร์ หรือ แทปฟิสต์ หรือผู้อยู่ในสายของการไม่ยึดติดนิกายใดได้อย่างสมภาคภูมิ

... ... ... ... ...

แดน เบอริแกน : เรานั่งอยู่นี้ ด้วยอาการเอาจริงเอาจัง ด้วยความวิเวกแห่งจิตอย่างยิ่ง นึกถึงเพื่อนของเราทั่วโลก และลังเลอยู่ว่าถ้าเราจะพูดถึงความหมายของขบวนการอหิงสา อันประกอบด้วยรากฐานบางอย่าง ประเพณี อำนาจที่มีขอบเขต โดยเฉพาะการค้นหาขบวนการที่ไม่เป็นไปเพื่อการเมือง และไม่โน้มเอียงไปสู่ความรุนแรงนั้นจะเป็นการดีหรือไม่ เราได้เห็นขบวนการที่ผิดพลาดในลักษณะเช่นนี้มามากแล้ว แต่ในหลาย ๆ ด้าน มรดกแห่งอดีตของคริสต์และพุทธ ก็สามารถเข้ากันได้ เช่นในเรื่องความเมตตากรุณา การรู้จักอกเขาอกเรา และความรู้สึกต่อกาลเวลาที่แตกต่างออกไป คือความรู้สึกต่อเวลาที่ยาวนานกว่าและลึกกว่าเมื่อเราอยู่ในคุก ผมเชื่อว่าเรามีความรู้สึกต่อเวลาแตกต่างออกไปด้วย บางทีอาจจะเข้าใกล้สัจจะมากขึ้น

ติช นัท ฮันห์ : เรามักจะจินตนาการว่า ช่วงชีวิตของมนุษย์ก็คือเส้นตรงที่ลากขึ้นบนแผ่นกระดาษจากซ้ายไปขวา บุคคลเกิดขึ้นมาในโลก ใช้ชีวิตอยู่แล้วก็ตายไป เราเลยคิดว่าชีวิตของบุคคลคนหนึ่งก็เหมือนกับเส้นที่ลากไว้บนแผ่นกระดาษตามขวาง แต่ผมคิดว่าการสมมติเช่นนั้นไม่ถูกต้อง ชีวิตไม่สามารถกำหนดให้เป็นเหมือนเส้นที่เราลาก เพราะการมีชีวิตอยู่ไม่ไปในทิศทางเดียว คือจากซ้ายมือมาขวามือ หากไปในทิศทางอื่น ๆ ด้วย ดังนั้นภาพวาดชีวิตด้วยการใช้เส้นตรงที่ลากตามขวางนั้นจึงไม่ถูกต้อง มันไปทุกทาง ไม่ใช่ ๔, ๘ หรือ ๑๖ ทางเท่านั้น แต่มันมีทิศทางไปมากมาย ด้วยเหตุนี้ ถ้าเราได้เห็นแจ้งแทงตลอดในสัจจะอันนั้น ความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับเรื่องเวลาก็จะเปลี่ยนไป สิ่งนี้นี่เองเวลาคุณนั่งสมาธิ คุณจะไม่รู้สึกว่าได้เดินทางไปกับกาลเวลา หากอยู่ในนิรันดร เราไม่ถูกขัดขวางด้วยความตาย หรือด้วยความเปลี่ยนแปลง ความรู้สึกที่ได้มีชีวิตอยู่ในสภาวะจิตใจเช่นนั้น ถือเป็นโอกาสที่ดียิ่งในการทำตนให้บริสุทธิ์สะอาด ไม่เพียงแต่จะมีผลต่อสภาวะการเป็นอยู่ของเราเท่านั้น หากยังมีผลไปถึงการกระทำ และการไม่กระทำของเราด้วย

แดน : ผมคิดว่าส่วนหนึ่งของความยุ่งยาก ก็คือการตัดสินที่จะกระทำการที่ถูกต้องในเวลาที่ถูกต้อง (หรือเวลาสำหรับการไม่กระทำ) แต่สำหรับคนโดยทั่วไปแล้ว คำถามนี้มักจะไม่มีการได้ถามกัน จะถามกันก็แต่เฉพาะเรื่องการเมืองเท่านั้น และผมคิดว่าความยุ่งยากส่วนใหญ่ของชีวิตอยู่กับคำถามที่ว่า เราจะมีชีวิตอยู่ไปทำไม ทำไมเราจึงยอมรับการมีชีวิตอยู่ ทำไมไม่ตัดขาดออกจากชีวิต…ทำไมชีวิตถึงมีค่า และเมื่อมีการถามคำถามเช่นนี้ โดยที่ความเข้าใจต่อคุณค่าของชีวิตก็ยังไม่ไกลไปกว่าการถกเถียงกันด้วยถ้อยคำ ผมคิดว่า การกระทำที่ถูกต้องก็คงจะเป็นไปไม่ได้ เหมือนกับคนคนหนึ่งที่อาจจะพูดขึ้นว่า เมื่อเราตั้งคำถามต่อทุกสิ่งทุกอย่าง คำถามว่าเราจะใช้ชีวิตอยู่อย่างไรในวันหนึ่ง ๆ ก็เลยกลายเป็นเรื่องที่ทำให้ทุกข์ทรมาน เลยกลายเป็นสิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ เมื่อไม่สามารถจัดการอะไรได้กับคำถามนี้ เราก็พยายามหนีมัน หลังจากนั้นก็บอกว่าคำถามเหล่านั้น “วุ่นวายมากเกินไป” เลยไม่ยอมค้นหาวิธีการจัดการกับคำถามเหล่านั้นอีกเลย วันหนึ่ง ๆ ด้วยสุราเมรัย ยาเสพติด หรือความสิ้นหวังหรือสิ่งที่เขายึดจับได้อื่น ๆ อันรวมศาสนาเข้าไว้ด้วย เขาก็เลยเลิกค้นหามาตรฐานแห่งการดำรงอยู่ ซึ่งจะช่วยให้การต่อสู้เป็นไปได้ในระยะเวลาที่ยาวนานจนตราบเท่าช่วงชีวิตของเขา และการที่จะให้ได้ชีวิตที่ไม่ทำร้ายผู้อื่นและตัวเอง สำหรับผมแล้วจะต้องอาศัยชีวิตเข้าสู่พระผู้เป็นเจ้าที่ลึกซึ้ง ศีลจริยวัตรอันสม่ำเสมอที่เกี่ยวแก่ความเอร็ดอร่อย ความรู้สึก ความอยากรู้อยากเห็น และการรับรู้เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ตลอดจนการรับรู้เรื่องการเมือง วัฒนธรรมของเราไม่ได้ตระเตรียมอะไรให้เราเลย เพื่อให้เราได้เข้าใจอย่างที่เราเข้าใจอยู่เดี๋ยวนี้ อันเป็นความเข้าใจที่เกิดขึ้นหลังจากการเกิดสงครามเวียดนามถึง ๑๐ ปี ประชาชนที่จะสัมผัสกับชีวิตแบบนี้มีน้อยมาก บางทีเราอาจจะคิดว่า นี่เป็นเวลาสมควรที่จะมีการฟื้นฟูศาสนธรรมกันใหม่ ด้วยการหาอะไรที่ลึกลงไปกว่าวัฒนธรรมที่เป็นอยู่นี้ แต่เราก็หาที่ลงไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ วัฒนธรรมจึงลากศาสนธรรม ไปเป็นเพียงวิธีการสำหรับหลบเลี่ยงคำถามแห่งชีวิต อันนำมาซึ่งความทุกข์ ประชาชนไปโบสถ์เพราะต้องการจะลืม และคนอื่น ๆ ที่จะไม่ไปโบสถ์ก็ต้องการจะลืมเช่นกัน และไม่มีหนทางออกอื่นที่จะช่วยได้

นัท ฮันห์ : เขาพยายามจะลืม เพราะว่าเขารู้สึกเหน็ดเหนื่อย เขาไม่มีกำลังใจที่จะเผชิญหน้ากับปัญหายุ่งยากประจำวัน ตอนแรกเขาอาจจะมีกำลังใจ หากแต่ว่าเขาไม่สามารถยืนหยัดการต่อสู้ไว้เป็นเวลานานได้ นี่เป็นเหตุผลที่เขาพยายามจะลืม และจุดสำคัญอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรเราจึงจะเข้มแข็งพอที่จะรับปัญหาเหล่านี้ได้โดยไม่หนีมัน ในกรณีนี้ ผมคิดว่า (ตามประสบการณ์ของผม) ปริมาณของการกระทำมิใช่เป็นสิ่งสำคัญ แต่ที่สำคัญคือคุณภาพ เมื่อผมรู้สึกสงบ ระงับ และมีความสุข ผมมีความแน่ใจว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผมทำจะให้ผลดี แต่บางครั้งปัญหาที่อยู่ต่อหน้าผมมาแรง ผมรู้สึกว่าผมไม่สามารถแก้ปัญหาทั้งหมดในเวลาเดียวกันได้ ตัวอย่างธรรมดา ๆ ก็ได้แก่การอ่านหนังสือพิมพ์ โดยที่อ่านทุก ๆ วัน และอ่านแต่ละเรื่องอย่างละเอียดถี่ถ้วน บางครั้งเราก็หยุดอ่าน… เราพบตัวเองว่าไม่อยู่ในสภาวะที่จะอ่านหนังสือพิมพ์เหล่านี้ได้ บางครั้งก็เป็นเวลานานถึง ๓ เดือน และหลังจากสามเดือนแล้ว เรามาอ่านหนังสือพิมพ์อีกก็พบว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมากนัก ดังนั้น จึงน่าจะมีการจัดการบางอย่างเพื่อให้เราได้ทำนุบำรุงตัวเราเองทางด้านจิตใจ (ให้เกิดชีวิต) เพื่อเราจะได้มีประสิทธิภาพ ด้วยมีปัญหาน้อยลง มีประสิทธิภาพมากขึ้น

แดน : ผมคิดว่านี่เป็นการต่อสู้กับวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงได้ยากของเราอย่างหนึ่ง ซึ่งแนวทางปฏิบัติของวัฒนธรรมได้คุกคามโลก ดังที่เราได้เรียนรู้จากสงครามเวียดนาม แต่อีกด้านหนึ่ง ตรงกันข้ามกับวัฒนธรรมของเรา คือคนหนุ่มทั้งหลายที่มีความตั้งใจดีและมีความสามารถอย่างสูง ซึ่งก็มีอยู่หลายแบบผสมผเสกัน ดังที่เราได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของความขัดแย้งอย่างรุนแรงที่ผ่านมาในช่วง ๑๐ ปีนี้ กับการที่จะต้องอดทนต่อการถูกทำให้เสียขวัญ การขึ้นโรงศาล การพิจารณาคดีที่ยาวนาน ที่จำขัง การอยู่ใต้ดิน การพลัดพรากครอบครัวและเพื่อน การที่ต้องอดทนต่อสิ่งเหล่านี้ถือเป็นส่วนประกอบที่ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่เราได้เรียนรู้ว่า ความสามารถในการกระทำสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่หาได้ยาก ราว ๆ ปี ๑๙๖๕–๑๙๖๖ บางคนในพวกเราถูกคนอื่นรังเกียจ อหิงสาเป็นเรื่องโง่เขลา ไม่ทันสมัย การยอมรับการพิจารณาคดีและยอมเข้าคุกเป็นเรื่องเหลวไหล นี่ไม่ใช่ขบวนการจะต้องแก้แค้น ด้วยการใช้ความรุนแรงและอาวุธ แล้วเราก็เห็นว่ามันไป ๆ มา ๆ เพื่อนของเราและนักต่อต้านที่เป็นคาทอลิคโดนรังเกียจเช่นเดียวกันนี้ เราสูญเสียความเลื่อมใสของคนหนึ่งที่มีต่อเราไปมาก แต่แล้วมันก็กลับมา เราอยู่ในวงจรที่สองแล้ว เป็นทศวรรษที่สอง ๑๙๗๐ เป็นปีแห่งความเข้าใจ พวกเขาเห็นขบวนการอื่น ๆ หายไป เหลือแต่พวกเราที่ยังอยู่ที่นั่น ในตอนปลายของเดือนธันวาคม ๑๙๗๒ ในขณะที่กำลังมีการทิ้งระเบิดต่อเนื่องกันถึง ๑๐ วันที่เมืองนิวยอร์ค มีพวกเราเท่านั้นที่ยังยืนหยัดอยู่ พวกเราและคนหนุ่มที่เคยติดคุกกันมาแล้ว และเป็นพวกเดียวที่เหลืออยู่ในการเรียกให้หยุด เราพูดคุยกับประชาชน ตระเตรียมเอกสาร และยังมีความหวัง ยังมีสัญญาณของความหวัง ผมคิดว่าการกระทำครั้งนี้ไม่ใช่การกระทำที่ยิ่งใหญ่อันใด แต่ก็เป็นการกระทำอย่างหนึ่ง ที่จะประกาศว่าคุณไม่ต้องการเลียนแบบศัตรูของคุณ และเมื่อคุณเลียนแบบศัตรู คุณก็เป็นศัตรูด้วย ดังนั้นถ้าคุณคิดจะใช้ความรุนแรงในขบวนการบางอย่าง คุณก็น่าจะเข้าร่วมกับกองทหารฆ่าชาวเวียดนามได้ เพราะว่าทั้งสองสิ่งก็คือสิ่งเดียวกัน เป็นเรื่องยากสำหรับชาวอเมริกาที่จะเข้าใจ

นัท ฮันห์ : และนั่นยังเป็นปัญหาพื้นฐานที่สุด ที่ผมเห็นในการกระทำของคุณและของเพื่อนของคุณ ก็คือขบวนการเพื่อการตื่น และผมคิดว่านั่นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะว่าปัญหาก็คือ การทำให้เกิดความตื่นขึ้น จากนั้นทุกสิ่งทุกอย่างก็จะตามมา ถ้าประชาชนไม่ตื่น คุณก็ไม่สามารถทำอะไรเลย ปัญหาไม่ได้อยู่ที่แรงหนึ่งต่อต้านอีกแรงหนึ่ง ว่าแรงไหนจะได้อยู่บนผืนแผ่นดินนี้ แต่ปัญหาคือความตื่น ตรงกันข้ามกับความหลงลืม ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งความชั่วและอาชญากรรมที่มีอยู่มากมาย คนฆ่ากันหรือประกอบอาชญากรรมมิใช่ว่าเขาจะต้องเป็นคนโหดร้ายโดยสันดาน แต่เป็นเพราะเขาหลงลืม เขาไม่ตระหนักถึงสิ่งที่เกิดขึ้นรอบ ๆ ด้านแม้แต่ภายในตัวเขาเอง ดังนั้นผมจึงสามารถตั้งชื่อขบวนการของคุณได้ว่า เป็นการกระทำเพื่อให้เกิดการตื่นทางมโนวิญญาณ ซึ่งเป็นหัวใจของมนุษย์

แดน : ผมหวังเช่นนั้น ผมคิดหวนไปถึงเรื่องที่คุณได้พูดก่อนหน้านี้ คือเรื่องการตื่นตูมในเหตุการณ์ต่าง ๆ ความกระหายในข่าวใหม่ ๆ ทุก ๆ วัน ประชาชนต้องการจะซึมซาบ ความยุ่งเหยิง การนองเลือดและความรุนแรงที่ไม่น่าเชื่อเหล่านี้ จึงนำมาซึ่งความหลงลืม โดยแกล้งทำเป็นตื่น บุคคลอุดมคติ (ตามแนวความคิดนี้) คือคนรู้เหตุการณ์ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และอ่านหนังสือพิมพ์ทั้งหมด แต่บ่อยครั้งเขาจะเป็นคนที่ตระหนักน้อยที่สุดว่าอะไรเกิดขึ้นกับประชาชนจริง ๆ และตระหนักถึงตนเองน้อยที่สุดด้วย

นัท ฮันห์ : นั่นเป็นความจริง เพราะว่าบางคนอ่านหนังสือพิมพ์ด้วยเหตุที่ว่า เขาไม่สามารถอดทนต่อการต้องอยู่ในที่ใดที่หนึ่งโดยไม่ได้ทำอะไร ดังนั้นเขาจึงไม่อยากรู้ในสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ๆ หากแต่เพียงต้องการเติมอะไรบางอย่างใส่หัวตัวเองให้เต็มเท่านั้น เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเผชิญกับความว่างเปล่าและความอ้างว้างในตัวของเขาเอง

แดน : ความสัมพันธ์ระหว่างเครื่องจักรกับมโนวิญญาณ ตามท้องเรื่องนี้ ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เครื่องจักรในตะวันตก ถ้าเปรียบเทียบแบบให้เกินจริงอยู่หน่อย ก็เปรียบได้กับตัวที่กินทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นแบบอย่างอันหนึ่งที่มนุษย์ควรปฏิบัติตามและได้มาซึ่งประสิทธิภาพ ผลได้ การปะทะและมิจฉาทิฏฐิของมโนวิญญาณ ในที่นี้ความแตกต่างระหว่างเครื่องจักรกับมโนวิญญาณของมนุษย์ก็จะหายสาบสูญไป ทั้งสองต่างพยายามจะครอบครองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เราได้เรียนรู้จากทศวรรษที่แล้วว่าชั่วระยะเวลาหนึ่ง คนที่มีอำนาจในรัฐบาลจะไม่มีประสบการณ์ทางมโนวิญญาณอื่นใดนอกไปจากที่ผ่านออกมาจากเครื่องจักร นั่นก็คือลูกระเบิดนั้นเอง ทางเดียวที่จะมีอำนาจอยู่ได้ในโลก ก็คือการมีคำสั่งเหนือเครื่องจักร ซึ่งก็คือการมีคำสั่งจะให้อยู่หรือตายก็ได้ และจะไม่มีความแตกต่างระหว่าง การทิ้งลูกระเบิด อันเป็นวิธีการทางมโนวิญญาณอันหนึ่ง กับตัวมโนวิญญาณเอง ดังนั้นการเดินสวนทางกับสิ่งนั้น หรือการหาหนทางที่จะเดินสวนทางกับสิ่งนั้น หรือที่เราพูดไว้ที่แคตันส์วิลล์ว่า การปฏิเสธต่อสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นทั้งหมด เป็นสิ่งที่ยากและนำมาซึ่งความทุกข์ทรมาน ผมไม่สามารถบรรยายออกมาได้ว่า เครื่องจักรได้ชัยชนะเหนือมโนวิญญาณของเราได้อย่างไร จนกระทั่ง “คำสั่งแห่งความจำเป็น” (Order of Necessity) ประกาศออกมา เราเชื่อว่า “ความรุนแรงไม่ใช่สิ่งจำเป็น” ถ้ามองในทัศนะของอภิปรัชญา ความรุนแรงเป็นแต่สิ่งที่จำเป็นเท่านั้น (ไม่เป็นอย่างอื่น) ความรุนแรงเป็นคำสั่งแห่งความจำเป็นด้วยตัวของมันเอง และการก้าวหลีกจากความจำเป็นไปสู่อิสรภาพ ก็คือการก้าวไปสู่อหิงสา เพราะมันเป็นทางเดียวที่จะไปสู่อิสรภาพ

นัท ฮันห์ : ความรุนแรงทำลายมโนวิญญาณ

แดน : ใช่ แต่นั่นหมายถึงความรู้สึกนึกคิดภายในความรู้สึกนึกคิดของตนเอง เพราะว่าเครื่องจักรอยู่นอกตัวมันเองโดยสิ้นเชิง เครื่องจักรไม่มีมโนวิญญาณอยู่เลยแม้แต่น้อย และทำลายมโนวิญญาณ จนมันเอาชนะได้ บางคนพูดว่าการมีจิตเป็นกุศลเป็นการประพฤติตนให้ถูกต้องต่อโลก แต่นั่นเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะมันยังเป็นการประพฤติตนให้ถูกต้องต่อตนเองอีกด้วย ต้องเป็นทั้งภายในและภายนอกจึงจะเข้าทำนอง

นัท ฮันห์ : เครื่องจักรของความรุนแรงทำลายมโนวิญญาณ เพราะว่ามันก่อให้เกิดความกลัว ก่อให้เกิดความสิ้นหวัง ก่อให้เกิดความรู้สึกและอารมณ์ทุกอย่างที่จะทำร้ายมนุษย์และอหิงสกรณียะ แน่นอนเราจะต้องเป็นปฏิปักษ์ต่อเครื่องจักรของความรุนแรงและด้วยเหตุผลเดียวกัน เราจะต้องเป็นปฏิปักษ์ต่อความคิด และความรู้สึกที่จะใช้เครื่องจักรอันนั้น

แดน : ในเวลาที่เครื่องจักรประกาศชัยชนะเหนือมนุษย์ทั้งหญิงและชายเช่นนี้ ผมคิดว่าการภาวนาจะกลายเป็นรูปแบบของการต่อต้านอย่างหนึ่ง และควรจะนำไปสู่การต่อต้านระดับโลก ถึงขนาดที่บุคคลจะไม่สามารถประกาศว่าเขาสัมผัสกับพระผู้เป็นเจ้าได้อีกต่อไป ถ้าหากเขายังทำตนเป็นกลางกับเครื่องจักรอยู่ และปล่อยให้มนุษย์ต้องล้มตายไป ผมเอ่ยเรื่องนี้ขึ้นก็เพราะว่าเรื่องนี้ก็ยังไม่ชัดอีกด้วย และเนื่องด้วยความสับสนของวัฒนธรรมของเรา คนส่วนใหญ่จึงพากันไปภาวนากันอย่างสิ้นหวัง (แม้ว่าจะไม่รู้ตัวก็ตาม) พวกเขาปฏิบัติสมาธิเพื่อความเป็นกลาง คือการหาอะไรมาป้องกันระหว่างตัวเขากับโลกที่ไม่น่าอยู่ แทนที่เป็นโอกาสที่จะอุทิศตัวให้แก่ประชาชนและความหวัง แทนที่จะหาสิ่งที่แตกต่างออกไป อันเป็นสิ่งใหม่ให้แก่ประชาชนผู้ทุกข์ยาก เรามีตัวยาวายร้ายชื่อ “การภาวนา” ผู้ปฏิบัติอาจเรียกตัวเองว่า ผู้คลั่งไคล้พระเยซูเจ้า สาวกของพระกฤษณะหรือของพระพุทธเจ้า อาจใส่เครื่องนุ่งห่มแตกต่างออกไป อยู่ในถนน ภิกขาจารสวดมนต์ และอาศัยอยู่ในคอมมูน แต่เขาไม่สนใจอะไรเกี่ยวกับสงครามเลย เขาพูดเหมือนกับ บิลลี กราแฮม ว่า “พระเยซูเจ้า โปรดช่วย” นั่นเป็นแต่เพียงการพูด ไม่ได้ลงความเห็นว่าจำเป็นจะต้องทำอะไร ดังนั้นเขาก็กลายมาเป็นทรัพยากรอีกชนิดหนึ่งของวัฒนธรรม หาได้เป็นทรัพยากรที่เป็นปฏิปักษ์ต่อวัฒนธรรมไม่

นัท ฮันห์ : ในเรื่องสมาธินี้ด้วย ผมคิดว่าการได้สัมผัสกับความเป็นจริง ซึ่งเราใช้ชีวิตอยู่ได้กินลึกเข้าไปในจิตใจของเรา และพวกเราหลายคนต้องการการเยียวยา คนเป็นจำนวนมากทั้งตัวผมและเพื่อนของผมหลายคน เราต้องการเวลาสักเล็กน้อย สถานที่ การอยู่โดยลำพังตนเองและสมาธิ เพื่อที่จะเยียวยาบาดแผลที่กินลึกเข้าไปในจิตใจของเรา นั่นไม่ได้หมายความว่า เมื่อผมซึบซาบอยู่กับการเฝ้ามองดูเมฆโดยไม่ได้นึกถึงเวียดนาม แล้วหมายความว่าผมไม่เอาใจใส่เวียดนาม แต่ผมต้องการให้ก้อนเมฆเยียวยาบาดแผลฉกรรจ์นั้นต่างหาก พวกเราหลายคนได้รับบาดแผลมา เราเข้าใจและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในความต้องการที่จะรับการรักษาเยียวยานั้น

แดน : ผมเคยคิดว่าการเขียนบทกวีและอ่านบทกวีในคุกร่วมกันเป็นการต่อต้านอย่างหนึ่ง พวกเขาพยายามทำให้ทุกคนไม่มีทางที่จะรู้สึกว่า สิ่งต่าง ๆ ธรรมชาติและตัวเองดีไปได้เลย แปลกมาก แต่เราหาทางที่จะแสดงให้เห็นความจริงว่า คนเราเจริญพัฒนาขึ้นในคุกได้ ในวันอาทิตย์เราจะชุมนุมกันอ่านบทกวีที่เราได้เขียนขึ้น หรือได้อ่านพบในตลอดหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา คนคุกส่วนมากไม่เข้าใจว่า “ใครจะทำสิ่งนี้ได้อย่างไร” “ทำไมพวกเขาถึงได้โง่นัก” …เพราะว่าทุกคนเศร้าและหม่นหมอง พิไรรำพัน วนเวียนอยู่ในถ้ำแห่งความเศร้าส่วนตัวเล็ก ๆ มากเกินไป และเราอยู่ที่นี่ กำลังอ่านบทกวี เป็นการพูดได้อย่างลึกซึ้งว่า เราไม่ได้เป็นอย่างที่พวกเขาเข้าใจ และเราไม่ได้เป็นอย่างที่พวกเขากำลังพยายามทำให้เราเป็น เรากำลังเดินไปในทางของเรา เรามีชุมชนของเรา เรามีบางสิ่งบางอย่างเหลืออยู่ที่จะให้ซึ่งกันและกัน และมีทางตั้งร้อยทางที่จะประกาศให้สิ่งนี้เป็นที่รู้กันได้แต่เมื่อผมออกจากคุกมาแล้ว ผมเห็นว่าสิ่งที่สำคัญก็คือ เราจะต้องรู้ว่าการต่อสู้ยังคงจะต้องมีอยู่ เพราะชีวิตข้างนอกเป็นชีวิตที่เหี่ยวแห้งด้วยเช่นกัน ไม่มีกวีรส หรือการมอบของขวัญอันใดให้แก่ผู้อื่น และสิ่งนี้จะไม่มีวันสิ้นสุด ดังนั้นการมองดูเมฆจึงเป็นการต่อต้านอีกทางหนึ่ง

นัท ฮันห์ : เมื่อเร็ว ๆ นี้ เพื่อนชาวเวียดนามของเราพูดคุยกันถึงเรื่องความตายของ ติช ทัน วัน อธิการของกลุ่มหนุ่มสาวเพื่อบริการสังคมในเวียดนาม ซึ่งถูกฆ่าตายในระหว่างปฏิบัติการ คุณรู้ไหมว่าเพื่อนของผมเขามีความเห็นในเรื่องที่ว่า ติช ทัน วัน ตายแล้วจะเป็นอย่างไรต่างกันออกไป คนหนึ่งก็พูดว่า “ก็เขาได้มีชีวิตอยู่ในโลกนี้เป็นเวลานาน และได้กระทำการอย่างดีที่สุดที่แสดงให้เห็นถึงความห่วงใยของเขาต่อมนุษย์ผู้อื่น ดังนั้นผมจึงหวังว่าเขาจะได้ไปอยู่ในดินแดนของพระพุทธเจ้าและมีดอกไม้” ผมคิดว่านั่นก็เป็นภาพพจน์ที่สวยดี แต่เพื่อนอีกคนหนึ่งไม่เห็นด้วย เขาพูดว่า “ผมไม่คิดว่า ติช ทัน วัน จะมีความสุขอยู่กับการนั่งบนดอกบัวใกล้พระพุทธเจ้า ผมคิดว่าเขาจะกลับมาที่นี่ ดินแดนแห่งนี้ เพื่อที่จะได้ทำงานต่อไป”

          ในศาสนาพุทธ เราพูดกันถึงการกลับชาติมาเกิด แต่ข้อคิดเห็นอันนี้เป็นลักษณะกวีนิพนธ์มากกว่าเทววิทยา เพื่อนอีกคนกล่าวว่า ติช ทัน วัน ไม่เป็นแต่เพียงหนึ่ง เขาไม่ใช่หนึ่ง และไม่ใช่จำนวนหลาย ไม่ใช่หนึ่ง หรือสองหรือสาม เขาจะกลับมาสู่ดินแดนแห่งนี้ แต่ไม่ใช่อยู่ในรูปของบุคคลคนหนึ่ง เขาอาจจะกลับมาในร่างของต้นไม้ ซึ่งขึ้นมาท่ามกลางเนื้อดินที่ถูกทำลาย โดยไม่ยี่หระกับพิษอันเกิดจากสารเคมี เขาอาจจะเป็นนก เขาอาจจะปรากฏอยู่ที่นี่ ระหว่างพวกเราในขณะนี้

          ดังนี้แหละที่การพูดคุยถึงเรื่องการกลับมาของ ติช ทัน วัน ดำเนินต่อเนื่องไป จึงเป็นสิ่งที่น่าในใจมาก ผมเป็นครูของ ติช ทัน วัน เมื่อเขายังอายุน้อย เด็กหนุ่มที่เคยเป็นนักเรียนของผมหลายคนได้สูญเสียชีวิตในสงครามมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว เป็นสิ่งที่ไม่น่าเชื่อที่ผมยังอยู่ที่นี่มีชีวิตอยู่ พวกเขาตายในขณะที่มีอายุ ๒๐, ๒๕, ๒๘ และผมอายุได้ ๔๖ ผมยังอยู่ที่นี่มีชีวิตอยู่ดูคล้ายกับว่ามันเป็นเรื่องเหลวไหลสำหรับผม

          วันหนึ่งผมนั่งรถใต้ดินไปทำงานในปารีส ผมเอามือสัมผัสที่นั่งของรถใต้ดินโดยเร็ว เพื่อดูว่ามันเป็นของจริง ผมทำไปโดยไม่รู้ตัว ผมสัมผัสและลูบคลำมัน เพื่อจะให้แน่ใจว่ามันแข็ง และเป็นของจริง และมันก็แข็ง และรู้ว่าเป็นไม้ ใช้ได้ แต่ผมก็ยังไม่แน่ใจว่ามันเป็นของจริง ผมว่าในขณะนั้นผมไม่มีชีวิตอยู่ เพราะผมไม่ได้รับรู้ความจริง พอตกกลางคืนผมหวนกลับมาคิดเรื่องนี้อีก และจำได้ว่าในตอนเช้า ผมได้ดูรูปจากหนังสือพิมพ์ เฮราลด์ ทริบูน เด็กหนุ่มเวียดนามนอนตายอยู่เคียงข้างกัน เด็กหนุ่มเวียดนามจากทั้งสองค่าย มีอายุราว ๑๕-๑๖ ปี และรูปถ่ายแสดงให้เห็นว่าพวกเขานอนอยู่อย่างสงบเงียบ ใกล้ชิดกันไม่มีการทะเลาะ ไม่มีการต่อสู้ ไม่มีเสียงรบกวน เงียบกริบ นั่นคือสิ่งที่ผมเห็น และถามตัวเองว่า เด็กหนุ่มเหล่านี้เคยเห็นหรือยังว่าชีวิตนั้นเป็นอย่างไร เขามีความสามารถที่จะรู้ความจริงได้หรือไม่ว่าเขาอยู่ที่นั่น ในชีวิตนี้ ความรู้สึกได้ว่ามีชีวิตอยู่หรือไม่ ผมคิดถึงตัวเอง หลายครั้งที่ผมรู้สึกว่าสูญเสียตัวเองไปในชีวิต ผมไม่ได้มีชีวิตอยู่จริง ๆ แต่แล้วผมก็มีโอกาส (ด้วยการนั่งสมาธิ) ที่จะเข้าใจถึงสิ่งเหล่านี้

          คนเหล่านี้จะรู้ได้อย่างไรว่า เขาเคยมีชีวิตอยู่ครั้งหนึ่งเมื่ออายุได้ ๑๔ หรือ ๑๕ ปี นั่นชักนำให้ผมลองสัมผัสที่นั่งในรถใต้ดิน

          ผมสารภาพว่า ถ้าผมคิดเกี่ยวกับเวียดนามมากเกินไป ผมจะตายไป ผมทนไม่ได้ ผมหมายความว่า ผมไม่เข้มแข็งพอที่จะอยู่เผชิญความจริงตลอด ๒๔ ชั่วโมงได้

แดน : นี่คือพวกเรา แม้จะมีระดับต่างกันไป ก่อนที่ผมจะมาปารีส เราเสียเพื่อนไปคนหนึ่งชื่อ แรบบี เฮสเชล ผู้ร่วมด้วยกับเรามาตั้งแต่ต้น เขากำลังจะไปพบผมและฟิลิป เรื่องเกี่ยวกับการเดินทางไปหาสันตะปาปาเพื่อถามคำถามเรื่องสงคราม ชั่วโมงหนึ่งก่อนหน้าที่เราจะได้พบกัน ลูกสาวของเขาโทรศัพท์มาและบอกว่า พวกเขาพึ่งพบว่าพ่อของเขาถึงแก่กรรมเสียแล้ว ผมรีบไปที่นั่นและพบว่าเขานอนหลับอยู่ที่นั่นด้วยอาการสงบ ผมคิดว่าการตายของเขาเป็นการตายที่สูงส่ง เพราะว่าความหมายทางจิตใจของการตายของเขาก็คือ การตายของนักรบแห่งสันติสุข ไม่ใช่การตายของนักรบแห่งสงคราม และเพราะเขาตายเพราะความทุกข์ทรมานทางใจ เขาตายเพราะความเศร้าโศกอย่างใหญ่หลวง ซึ่งผมคิดว่าก็จะมีแต่เฉพาะชาวยิวที่เคร่งศาสนาเท่านั้นที่จะทำเช่นนั้นได้ จะต้องเป็นคนที่สวดและมีความเชื่ออย่างลึกซึ้ง เมื่อผมออกจากคุกมาตอนนั้น เราได้มีการแลกเปลี่ยนศรัทธาในสันติสุขเป็นพิเศษ งานครั้งสุดท้ายของเราคือการต้อนรับการออกจากคุกของฟิลิป เขาเดินทางเป็นระยะทางไกล แม้ว่าเขาจะป่วยมาก ผมคิดว่าคงจะมีคนน้อยคนในประเทศนี้ ที่จะมีอภิสิทธิ์ด้วยการตายในฐานะผู้ทำงานเพื่อสันติสุข มีวิธีตายที่ร้ายกว่าการตายแบบของเขาเป็นอันมาก เพราะผมคิดว่า เขาคงเป็นคนหนึ่งที่รู้ว่า (ดังที่คุณพูดว่า) การมีชีวิตอยู่คืออะไร เป็นเรื่องกลับกันที่แปลกมาก ผมคิดว่า เขารู้ดีว่าการมีชีวิตอยู่คืออะไร ด้วยการตายของเขา เขาตายด้วยความรู้สึกแห่งชีวิต และนั่นเป็นการต่อต้านด้วย

นัท ฮันห์ : สิ่งหนึ่งที่ผมคิดอยู่มากก็คือประสิทธิภาพของการกระทำของอหิงสธรรม บางทีน่าจะมีการศึกษาปัญหาที่ว่า การกระทำเพียงหนึ่งเดียว สามารถมามีผลก็ต่อเมื่อเวลาล่วงเลยไปแล้ว ๒,๐๐๐ ปี ได้อย่างไร ในเวลาที่พระเยซูมีชีวิตอยู่ ไม่มีใครสามารถทำนายผลที่จะมีตามมาในศตวรรษที่ ๒๐ ได้เลย คนหลายคนกล่าวโทษเขา และเข้าใจเขาผิดในเวลาที่เขามีชีวิตอยู่ สิ่งเดียวกันนี้เกิดขึ้นกับบุคคลที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ นั้นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงควร (ในเรื่องประสิทธิภาพ) ที่จะมีการมองในแง่มุมต่าง ๆ ด้วยการศึกษา ด้วยการปฏิบัติสมาธิ และด้วยวิธีการอื่น ๆ เพื่อจะแสดงต่อเพื่อนของเราว่า การกระทำของเราจะให้ผลเสมอ สำหรับตัวผม ผมมีความเชื่อว่าจะไม่มีการกระทำอันใดที่จะไม่เกิดผลในอนาคตเลยแม้แต่อันเดียว และเห็นเช่นเดียวกันใน “ชีวิตอหิงสา” (ผมเกือบจะใช้คำว่าขบวนการ แต่คำว่าขบวนการเล็กกว่าชีวิต) หลายครั้งในชีวิตอหิงสาของเรา ผมเสียกำลังใจ ผมต้องสารภาพ แต่เมื่อผลของการกระทำของบุคคลปรากฏชัดขึ้น ผมมีกำลังใจขึ้นมาอีก ผมคิดว่าพวกเราทุกคนมีประสบการณ์เช่นนั้น ด้วยเหตุนี้ ผมจึงเชื่อว่า ถ้าพวกเราแต่ละคนมีความเชื่อเช่นนี้ (ว่าการกระทำอันใดก็ตาม ในทิศทางที่ถูกต้อง และมีรากฐานอยู่บนความเป็นมนุษย์จะต้องเกิดผล) ผมคิดว่าเราจะมีความอดทน ความมั่นคง และการยืนหยัดที่จะเดินทางต่อไปในชีวิตอหิงสา (ขบวนการอหิงสาของเรา)

          เป็นการง่ายที่จะพูด แต่ไม่ง่ายเลยที่จะปฏิบัติ และเราต้องการ (ต้องการมากทีเดียว) แรงสนับสนุนจากเพื่อนของเรา แม้แต่จะมีคนเดียวก็ตามในยามยาก เวลาคนหนุ่มเขามาถามเราว่า เรามีความหวังกับสันติวิธีนี้แค่ไหน คุณไม่สามารถบอกกับเขาได้ว่า คุณหมดกำลังใจเสียแล้วโดยสิ้นเชิง นั่นจะเป็นการฆ่าเขา ดังนั้นคุณจะต้องพูดอย่างกับว่าคุณโกหกเขา คุณพูดว่า “อย่าเพิ่งหมดกำลังใจ ผมเองยังไม่หมดกำลังใจเลย” นั่นเป็นการโกหกแน่ ๆ เป็นการโกหกโดยแท้ แต่คุณถูกบีบโดยสถานการณ์ให้พูดเช่นนั้น โดยเฉพาะเมื่อเขามีความผูกพันกับคุณในฐานะเพื่อนสนิทหรือผู้ใหญ่ที่เขาเคารพรัก

แดน : คำถามอันหนึ่งทุกวันนี้ในสหรัฐอเมริกา ในระหว่างคนดี ๆ ด้วยกันก็คือ “เราจะสามารถทำอะไรได้ เราจะไปที่ไหน เราจะเลือกสรรสิ่งต่าง ๆ อย่างไร เราเคลื่อนที่ไปได้อย่างไร” คำถามที่ไม่ถามกันจะเป็นคำถามเรื่องความกดดัน และการหมดกำลังใจ และบางครั้งคุณไม่สามารถพูดอะไรเลย ด้วยการตอบคำถาม คุณไม่สามารถพูดว่า เราควรทำสิ่งนี้ เราไม่ควรทำสิ่งนั้น นั่นไม่ใช่คำถาม เพราะไม่ช่วยเราให้ไปไหนได้เลย เราได้เคยลองแบบนี้กันแล้ว ผมพบว่าสิ่งที่ดีที่สุดที่คุณสามารถทำได้ก็คือ การบอกเล่าเรื่องราวของชาวเวียดนามให้ฟัง คนหนึ่งพูดขึ้นว่า “เอาละ ผมไม่รู้ว่าใครจะทำอะไรได้บ้าง ผมมานี่ไม่ได้มาแนะนำวิธีการ แต่ผมอยากจะเสนอว่า ตราบใดที่ชาวเวียดนามยังดำเนินงานต่อไป เราก็จะดำเนินงานต่อไป ถ้าพวกเขาทนทุกข์ทรมาน พวกเราก็จะสามารถทนทุกข์ทรมานด้วยเล็กน้อย (ซึ่งไม่สามารถเทียบกับความทุกข์ทรมานของพวกเขาได้เลย และในวิถีทางเช่นนั้น คุณอาจจะมีทัศนคติที่ดีขึ้นก็ได้) เพื่อประชาชน”

          คุณรู้ไหมว่านี่เป็นตัวอย่างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ยังน้อยอยู่มาก มันเป็นสิ่งที่เราจะต้องต่อสู้ไปเป็นระยะเวลาอันยาวนาน ผมมีความมั่นใจอยู่อย่างหนึ่งว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะให้คนเราได้ผ่านสถานการณ์ที่ร้ายกาจบางประการ เช่นการถูกจำคุกหรือสิ่งอื่นใดก็ได้ (เขาจะได้รู้ว่าสิ่งเหล่านี้เขาสามารถทนได้) และความยุ่งยากเล็กน้อยข้างหน้าเป็นสิ่งที่เขาสามารถทนได้ เราจะต้องแสดงความมั่นคงของจิตใจที่คุณพูดถึงให้เห็น และบางทีอาจจะต้องหักหาญเอากับบางคนโดยพูดว่า “คุณไม่เคยคิดเลยบ้างหรือว่า ความสิ้นหวังของคุณนั้น เป็นสิ่งฟุ่มเฟือยเกินจำเป็น เป็นสิ่งที่กันเราออกจากการปฏิบัติงานจริง ๆ พวกเราบางคนไม่มีเวลาสำหรับมัน และระเบียบวินัยของเราห้ามไว้”

          คนมักจะไม่ค่อยพอใจ แต่ผมคิดว่าสำหรับพวกเราแล้ว (นี่ไม่ใช่การพูดให้แก่ชาวเวียดนามเลยแม้แต่น้อย) มันจะเป็นการตามใจตัวเองมากเกินไปที่จะมัวมาพูดแต่ความสิ้นหวัง คนที่ผ่านมามากแล้วจะไม่พูดเช่นนั้น จะมีแต่คนที่พึ่งผ่านมาได้นิดหน่อยเท่านั้นที่จะพูด ตามปรกติแล้วคนที่เคยผ่านอะไรบางสิ่งบางอย่างในสหรัฐอเมริกาแล้ว มักจะไปได้ดีซึ่งไม่ใช่จะพูดว่าประเทศของคุณไม่มีเวลาวิกฤตกาลเลย แต่เป็นการวิเคราะห์เรื่องของคนที่ไม่เคยได้ตระหนักถึงสันติสุขและสภาวะบ้านเมืองที่ปรกติสุข เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เขาคิดว่าการสิ้นสุดของสงครามก็คือการได้มาในสิ่งที่เขาเคยมีอยู่ และความหมายของสงครามก็มีค่าแต่เฉพาะการมาขัดจังหวะต่อความเป็นอยู่ดี และความสะดวกสบายที่เคยได้รับเท่านั้น ไม่ใช่การที่ประชาชนจะต้องทนทุกข์ทรมานและจะต้องตาย แต่เป็นการมาขัดจังหวะชีวิตสุขสบายที่มีอยู่เดิม

          บางสิ่งบางอย่างมาขัดจังหวะชีวิตที่สุขสบายของเขา ความสำเร็จของเขา และความสะดวกสบายที่ไม่เคยโดนขัดจังหวะมาก่อน การที่จะช่วยให้พวกเขาได้รู้ถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้น จะต้องใช้เวลานาน เช่นเดียวกับประชาชนนับพันที่ผ่านเราไปในถนนสายที่ ๕ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สำหรับพวกเขาแล้ว นับเป็นการกระทำความยุ่งยากให้แก่พวกเขา ในการที่เราไปยืนอยู่ที่บันไดโบสถ์ของนักบุญแพททริก คาทีดัล แบกป้ายที่เขียนไว้ว่า “มันเป็นอาชญากรรมที่จะนิ่งเงียบในเวลาเช่นนี้” สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่มาขัดจังหวะการไปหาซื้อของ ความฝันของเขา มายาภาพเกี่ยวกับชีวิตของเขา ความสุขสบายของพวกเขา และเรื่องอื่น ๆ คุณสามารถเห็นได้ว่า ความโกรธของเขาไม่ได้อยู่ที่สงคราม แต่อยู่ที่พวกเราที่ยืนอยู่ที่นั่น

          แต่เราคิดว่าการยืนอยู่ที่นั่นเป็นการกระทำอันเล็กน้อย นี่เป็นสิ่งที่คุณทำ คุณทำบางสิ่งบางอย่างแล้วรู้จักอ่อนน้อมถ่อมตนในการกระทำนั้น ๆ

นัท ฮันห์ : งานในการปลุกประชาชนให้ตื่นนี้ เป็นงานที่สำคัญ เพราะความสิ้นหวังเป็นอกุศล บางครั้งก็มีบางสิ่งบางอย่างที่ใกล้ความสิ้นหวังมาก แต่ยังไม่ถึงกับสิ้นหวัง เมื่อแรกที่เราได้ยินข่าวเรื่องการทิ้งระเบิดที่เวียดนาม การทำลายฮานอย และโรงพยาบาล บาช มาย และเรื่องในทำนองนี้ ซึ่งทำให้เราหมดกำลังใจ หลังจากมีความหวังไว้มาก แล้วมากลับกลายในทันทีทันใด คุณเกิดความรู้สึกใกล้กับความสิ้นหวังมาก ความรู้สึกเช่นนั้นทำให้คุณร้องไห้ และต้องการจะหันไปว่าอเมริกาด้วยความโกรธว่า “คุณเป็นคนป่าเถื่อน” แต่เป็นสิ่งดีละหรือ เป็นสิ่งดีละหรือที่จะพูดในเวลาโกรธ สิ่งนี้ไม่ใช่การกระทำที่จะก่อให้เกิดประโยชน์อันใดเลย แต่สิ่งที่เหมาะสมที่สุดก็คือ การเขียนไปถึงเพื่อนที่นั่น บอกว่า “เรากำลังเป็นทุกข์ เราร้องไห้อยู่” นั่นเป็นเพียงสิ่งเดียวที่เรารู้สึกว่าเราสามารถทำได้ในสถานการณ์เช่นนั้น สำคัญกว่าการร่วมกันลงนามประณามการทิ้งระเบิดด้วยซ้ำไป แต่สิ่งนี้ก็ควรกระทำด้วยเหมือนกัน แม้จะได้กระทำในสิ่งที่คล้าย ๆ กันนี้มาหลายครั้งหลายหนแล้วก็ตาม แต่อย่างที่คุณพูด เราไม่สามารถปล่อยให้ตัวเองหมดกำลังใจได้ การหมดกำลังใจเป็นการสูญเสียอย่างยิ่งในชีวิตของเราและในขบวนการของเรา ดังนั้นเราจึงยืนหยัดที่จะเป็นปฏิปักษ์กับมันและกระทำการของเราต่อไปนี้เป็นหนทางเดียวเท่านั้น

จิม : แดนได้ชี้ให้เห็นว่า คนอเมริกันหลายคนในขบวนการได้ประสบกับความรู้สึกใกล้ความสิ้นหวัง และบางครั้งสิ่งที่ช่วยให้เราได้พ้นจากความสิ้นหวัง ก็คือการนึกถึงสภาพของประชาชนชาวเวียดนาม ตัวผมเองหลายครั้งที่นึกทบทวนประสบการณ์และความสัมพันธ์ที่ผมมีกับคุณ ผมได้รับความหวังจากความพยายามของชาวเวียดนาม ในความหมายของความพยายามของชาวเวียดนามทั้งมวล แต่คุณล่ะคุณได้ความหวังมาจากไหน ?

นัท ฮันห์ : ก่อนที่ผมจะพูดเกี่ยวกับเรื่องนั้น ผมจะพูดบางสิ่งบางอย่างอันเกี่ยวกับเพื่อนร่วมประเทศชาวเวียดนามเหนือเสียก่อน พวกเขาพูดอยู่เสมอว่า เขาพร้อมที่จะต่อสู้ต่อไป แต่แน่นอนเขาย่อมรู้สึกเหมือนพวกเรา เขาต้องทนทุกข์ทรมานมาก เขาเป็นมนุษย์ เขาปรารถนาให้สงครามยุติโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เช่นเดียวกับเรา แต่ฐานะของเขา เขาจะต้องพูดเหมือนอย่างที่เขาเคยพูดมา ดังนั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะแลเห็นความเป็นมนุษย์ในตัวเขา (มนุษย์สมบูรณ์แบบเช่นเดียวกับเรา)

          การที่ผมบอกเด็กหนุ่มว่าผมไม่หมดกำลังใจก็เป็นปัญหาเดียวกัน แน่นอนเรามีความหวัง เรามีความหวังตลอดเวลา เพราะว่าขณะใดที่คุณสูญเสียความหวังไปจนหมดสิ้น คุณก็ตาย เป็นเรื่องธรรมดามาก คุณตายไป ตายไปเดี๋ยวนั้น คุณอาจฆ่าตัวเองหรือไม่ฆ่าตัวเอง แต่คุณตายไปเดี๋ยวนั้น นี่ก็สิบปีมาแล้วที่ผมมีความหวังมาตลอดเวลาว่าสงครามจะยุติภายในสองสามเดือนข้างหน้า ผมไม่เคยคิดเลยว่าสงครามจะยืดเยื้อต่อไปอีกเกิน ๖ เดือน เพราะว่าความคิดเช่นนั้นจะฆ่าผม ในสถานการณ์ที่ทุกข์ทรมานเช่นนั้น คุณอาจจะได้ยินข่าวลือเกี่ยวกับการหยุดยิง และการเจรจาตกลงที่เป็นไปได้ และคุณก็เชื่อมั่นด้วยแรงและกำลังทั้งหมดที่คุณมีอยู่ คุณพร้อมที่จะเชื่อข่าวลือที่ไร้สาระที่สุดเกี่ยวกับสันติภาพ

          ผมจำการสนทนาครั้งหนึ่งที่ว่า บางทีอาจจะไม่มีความหวัง มันเป็นมายา บางทีเรากำลังยึดมายาอยู่เพื่อที่จะมีชีวิตอยู่ได้ บางทีเราควรจะถกเถียงกันว่า มีธรรมชาติที่แตกต่างกันระหว่างความหวังกับมายาอยู่ไหม ? เราปรารถนาสันติภาพ เราอยู่ในมายาเช่นนั้นหรือ ? และคนเหล่านั้นที่ทำสงคราม บางทีเขาอาจจะอยู่ในมายาด้วยเหมือนกัน ไม่เช่นนั้นแล้ว เขาจะให้สงครามเช่นนั้นแก่เราได้อย่างไร เขาคงต้องคิดว่าเขากำลังทำความดีบางอย่างอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องการ และความเชื่อของพวกเขาก็เหนียวแน่นมาก แม้เราจะตะเบ็งเสียงมาเป็นเวลา ๑๐ ปีแล้ว ก็ยังไม่พอ เขาไม่สามารถที่จะฟัง ที่จะเข้าใจ ดังนั้นปัญหาเรื่องมายาจึงเป็นปัญหาของเราอีกอย่างหนึ่ง

แดน : บางทีอาจจะไม่ต้องถึงขั้นที่จะต้องลากเส้นแบ่ง ระหว่างความหวังและมายาออกจากกันให้ชัดเจนก็ได้ บางทีเราต้องการแบ่งอย่างกว้าง ๆ เท่านั้น สำหรับมายาแล้ว ดูเหมือนว่า จะไม่สามารถนำให้คนอุทิศตนอย่างกล้าหาญให้แก่ประชาชนในระยะเวลาอันยาวนานได้เลย ในขณะที่การคบคนคนหนึ่งที่มีความหวังในชีวิต สิ่ง ๆ นี้จะเป็นไปได้ มีคำถามหลายอย่างในจำพวกนี้ แต่ผมไม่อยากแยกแยะให้จะแจ้ง เพราะมันไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น ผมมีมายาอยู่หลายสิ่งหลายอย่างในชีวิต มายาที่ไร้สาระ แต่บางทีก็ผสมผเสกับบางสิ่งบางอย่างซึ่งไม่เลวทีเดียวนัก ผมเลยรู้สึกว่า ดีแล้ว ลองดู

          ขณะเดียวกัน ผมก็รู้ว่าพวกที่ประกาศตนว่ามีอำนาจเหนือพวกเรา ถูกครอบงำอยู่ด้วยมายาประเภทหนึ่ง ซึ่งก่อให้เกิดความตาย และเป็นความตายอย่างสิ้นเชิง มายาเกี่ยวกับอำนาจ ตัวตน เลือด ความรู้สึกว่าตัวเองอยู่เหนือผู้อื่น เชื้อชาตินิยม และความรุนแรง ส่วนผสมของความชั่วร้ายที่ผลิตเครื่องจักรออกมา แต่นั่นไม่เกี่ยวกับผมและเพื่อนของผม

          ให้ผมยกตัวอย่างมายาที่ผมปฏิเสธที่จะเลิก ผมชอบมันมาก กล่าวคือเมื่อผมอยู่ในคุก ผมมีมายาอยู่ (ก่อนที่ผมจะเข้าคุก และมีมากขึ้นเมื่อเข้าไปอยู่ในคุกแล้ว) อย่างหนึ่งว่า นิกายของผม นิกายเยซูอิตกำลังเปลี่ยนไปในทางที่ดีมาก โดยเฉพาะกับคนหนุ่ม ๆ ผมคิดว่าพวกเขามีความตระหนักและมีความรู้สึกอ่อนไหวในเรื่องสงครามมากขึ้น เมื่อผมออกจากคุก ผมพบว่าแทบจะไม่มีอะไรเปลี่ยนเลย เปลี่ยนไปเพียงเล็กน้อย และผมพบว่ามีสมาชิกอีกเป็นเรือนร้อยที่ยังไม่เปลี่ยน

          อีกเรื่องก็คือ ความแตกต่างระหว่างการอยู่ในครอบครัวกับการอยู่นอกครอบครัว เมื่อคุณอยู่ข้างนอก คุณสามารถตัดสินครอบครัวของคุณอย่างหักหาญ และบางทีก็ถูกต้องแม่นยำดีด้วย ผมไม่ทราบ แต่เมื่อคุณอยู่ในครอบครัว คุณจะรู้สึกต่างกันออกไปมาก คุณคิดว่ามายายังดีกว่าการหย่าร้าง ผมมีความคิดอีกอย่างหนึ่งด้วยว่า คนเรามักจะถูกครอบงำด้วยคำถามที่ว่า เราต้องการอะไรมากเกินไป แท้ที่จริงมีเพียงคำถามที่ว่าคุณจะไปที่ไหนเท่านั้น และก็ไม่มีสถานที่สักกี่แห่งนัก ที่จะให้เข้ากับประเพณีและภูมิหลังของตนเองได้

นัท ฮันห์ : ผมเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี อาจจะเป็นเพราะมีประสบการณ์เช่นเดียวกัน ถ้าคุณตัดตัวเองออกจากบางสิ่งบางอย่าง เช่น ประเพณีหรือชุมชน ความหวังในสิ่งต่าง ๆ ก็จะสูญสิ้นไปในทันทีทันใด ดังนั้นมันจึงไม่เป็นปัญหาของคำแต่อย่างใด แต่มันก็เป็นปัญหาของชีวิต และปัญหาที่จะอยู่ได้ทั้งข้างในข้างนอกพร้อม ๆ กัน เป็นความคิดที่วิเศษมาก อ้อ ไม่ใช่เป็นความคิด หากเป็นการดำเนินชีวิตไปในหนทางที่จะคงความเป็นตนเองไว้ และยังสามารถเชื่อมความเป็นตนเองส่วนนี้เข้ากับความเป็นตนเองส่วนอื่น

แดน : นี่เป็นรูปแบบชีวิตส่วนใหญ่ของเมอตันเลยทีเดียว ข้างใน ข้างนอก เป็นผลได้ที่มั่งคั่งสำหรับเขาและผู้อื่น เขาเคยพูดว่า เขาจะไม่เป็นบาทหลวงอีกเป็นอันขาด แต่บัดนี้เขาก็ได้เป็นบาทหลวงอยู่แล้ว เขายังคงเป็นบาทหลวงต่อไปแน่นอน

จิม : เป็นการเล่นซ่อนหากับประเพณี

นัท ฮันห์ : อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นบาทหลวงหรือไม่เป็นบาทหลวง นั่นไม่ใช่ปัญหา ปัญหาอยู่ที่มรรควิธีที่คุณเป็นบาทหลวง หรือมรรควิธีที่คุณไม่เป็นบาทหลวง ผมคิดว่าถ้าเรารับเหตุการณ์ด้วยวิธีเช่นนั้น เราสามารถควบคุมสถานการณ์ได้

          ในเมืองจีนมีเรื่องเล่าว่า มีชายคนหนึ่งเสียม้าไป เขาเศร้าโศกและร่ำไห้ แต่สองสามวันต่อมา ม้าของเขากลับมาด้วยพร้อมม้าอีกตัวหนึ่ง ชายคนนี้เลยมีความสุขมาก การสูญเสียของเขากลายเป็นโชคดี แต่วันต่อมา ลูกชายของเขาลองม้าตัวใหม่ ตกม้าขาหักไปข้างหนึ่ง ทีนี้ก็ไม่ใช่โชคดีแล้ว แต่เป็นโชคร้าย ดังนั้นเขาจึงปล่อยม้าอีกตัวหนึ่งไป แล้วพาลูกชายไปโรงพยาบาล และพอใจกับสิ่งที่เขามีอยู่ ดังนั้นเขาจึงพูดกันว่า ถ้าท่านต้อนรับเหตุการณ์ต่าง ๆ ด้วยจิตใจที่สงบ ท่านจะได้รับประโยชน์จากเหตุการณ์ทุกเหตุการณ์อันนำมาซึ่งความสุข นั่นไม่ใช่ผม แต่เป็นชาวจีน (เสียงหัวร่อ)

วันพุธที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

เมื่อหัวใจแห่ง “การศึกษาเพื่อความเป็นไท” ของอดัม เคิร์ล กลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อหัวใจแห่ง “การศึกษาเพื่อความเป็นไท” 

ของอดัม เคิร์ล กลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง


วิศิษฐ์ วังวิญญู

yourservant007@yahoo.com


ส่วนใหญ่หนังสือหนังหาทางความคิด ในคนรุ่นของอดัม เคิร์ลนั้น หากเขียนในมิติของสังคม ก็จะเน้นย้ำไปในทางแสวงหาความยุติธรรมเพียงอย่างเดียว และจะเต็มไปด้วยเหตุผลอะไรต่ออะไรมากมาย โดยขาดมิติทางจิตใจ และอีกด้านหนึ่ง หากจะเน้นย้ำไปในทางจิตวิญญาณ ก็มักจะเป็นจิตวิญญาณที่ไม่ได้เชื่อมโยงไปหาความยุติธรรมทางสังคม อันนี้ ต้องนับว่าอดัม เคิร์ลนั้นก้าวล้ำยุคสมัยของเขา ที่เขาสามารถเชื่อมร้อยเรื่องความอยุติธรรมทางสังคมได้กับเรื่องพัฒนาการทางจิต อย่างเป็นหนึ่งเดียวกัน 


ในการศึกษาเพื่อความเป็นไท บทแรก ๆ อดัม เคิร์ลจะได้พูดถึงระบบการศึกษาอันอยุติธรรม เขากล่าวว่า คนส่วนใหญ่ในสังคม ถูกกำหนดเส้นทางเดินให้อยู่ในระบบโรงเรียนซึ่งจะสอนให้เขารู้สึกว่าล้มเหลวในระบบการศึกษา และยอมรับชะตากรรมของพวกเขาอย่างจำนน จะมีคนส่วนน้อยในระบบการศึกษาที่ดีกว่า ที่สอนให้เขาประสบความสำเร็จ คนพวกนี้จะอยู่โรงเรียนที่ดีกว่า ดีกว่าในความหมายที่ เป็นระบบโรงเรียนน้อยกว่า และให้ความเป็นมนุษย์แก่นักเรียนมากกว่า 


แต่แทนที่เคิร์ลจะเผยให้เห็นระบบการศึกษาอันอยุติธรรมเท่านั้น เขายังได้ค้นหาวิถีที่จะทำให้การศึกษาได้รับใช้มนุษย์อย่างแท้จริง ที่เป็นการศึกษาเพื่อให้มนุษย์ได้เป็นไท ได้ในทุก ๆ ระดับการศึกษา หากเราเข้าใจวัตถุประสงค์และวิธีการทางการศึกษาที่แท้จริง โดยที่จะต้องเห็น “มายาคติ” ของความเป็นโรงเรียน ความเป็นระบบโรงเรียน อันไม่ใช่ที่ทางของการศึกษาที่แท้


ตรงนี้เอง ที่เขาได้เชื่อมโยงพัฒนาการด้านจิตใจของมนุษย์เข้ามาผสมผสานเข้ากับการศึกษาเพื่อความยุติธรรม 


ตัวเชื่อมโยงที่สำคัญที่สุดของเขาก็คือ “ครู” และตัวส่งผ่านการศึกษาที่แท้จริงก็คือ “ความสัมพันธ์” ระหว่างครูกับศิษย์ และตัวที่จะกำหนดคุณภาพที่สำคัญยิ่งก็คือ “ความรู้เท่าทัน” ในตัวครูต่อตัวเอง เคิร์ลได้พูดถึงระดับความรู้เท่าทันสามระดับ หรือเอกลักษณ์สามแบบ ที่ทำให้ได้มาซึ่งคุณภาพทางการศึกษาที่แตกต่างกัน


เราควรจะได้กลับมาเยี่ยมชมความคิดเรื่องความรู้เท่าทันสามระดับของเคิร์ลอีกครั้ง เพื่อจะได้เห็นว่า ความคิดของเขายังล้ำสมัยอยู่แม้ในทุกวันนี้


 


อัตลักษณ์สามขั้นตอน เริ่มจากความรู้เท่าทันระดับต่ำ


อดัม เคิร์ลพูดถึงการพัฒนาเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์ของมนุษย์ เป็นสามขั้นตอน คือเริ่มจาก การไม่มีเอกลักษณ์ หากดำรงอยู่ไปตามแรงขับดันของธรรมชาติและสัญชาตญาณ ซึ่งก็คือ ความรู้เท่าทันที่ในระดับต่ำที่สุด คือไม่รู้ตัวว่าตัวเองคือใคร ไม่มีการใคร่ครวญอะไรกับชีวิต หากดำรงอยู่ไปตามแรงขับที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้น ๆ อย่างไม่รู้ตัวเอง อย่างหลับใหล อย่างไม่อาจควบคุมกำกับทิศทางชีวิตของตัวเองได้


เขาบรรยายถึงสภาวการณ์ของคนที่ดำเนินชีวิตอยู่ในความรู้เท่าทันระดับที่ต่ำดังนี้


“ในสภาวะของความรู้เท่าทันที่ต่ำนี้ เราจะพูดและกระทำไปโดยอัตโนมัติ โดยไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่า เรากำลังทำอะไรอยู่ ฉากของความรู้จะแวบวาบไปด้วยอารมณ์ที่แปรเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ความกังวลใจก็ดี ความรู้สึกพึงพอใจในตนเองก็ดี หรือความงุ่นง่านรำคาญใจก็ดี ตกเป็นเหยื่อของแรงขับทางอารมณ์อันไม่แน่นอนซึ่งซ่อนตัวอยู่ เราจะกระทำหรือพูดในสิ่งที่เราจะมารู้สึกเสียใจและอับอายในภายหลัง “ผมไม่รู้หรอกว่าอะไรเข้ามาครอบงำ” หรือ “ผมไม่ได้คิดอย่างนั้น” เราพูดไปโดยไม่มีการฟังตัวของเราเอง เหมือนกับเปิดแผ่นเสียงให้เหมาะกับโอกาส แล้วปล่อยให้มันพูดแทนเรา ทั้งนี้ เราไม่ได้รู้สึกตัวในเรื่องเอกลักษณ์ของเราเลย เมื่อเราดำเนินชีวิตไปด้วยความรู้เท่าทันในระดับที่ต่ำนั้น ก็เปรียบได้กับว่า เราเปิดสวิทช์ให้เครื่องบินบินไปโดยอัตโนมัติ และเราก็จะได้หลับสักงีบ แต่กลไกอัตโนมัตินั้นอาจนำเราไปในทิศทางที่ ถ้าเราตื่นอยู่ เราก็อาจจะไม่เลือกที่จะไปในทิศทางนั้นเลยก็ได้”


“การไม่รู้เท่าทันยังหมายถึงการใช้ชีวิตอย่างตื้นเขินอยู่เพียงแค่พื้นผิว โดยเมินเฉยต่อสิ่งที่อยู่ลึกจากพื้นผิวของการรับรู้เข้าไปข้างใน เป็นการเพิกเฉยต่อสัญชาตญาณและญาณทัศนะที่ก็เป็นด้านหนึ่งของบุคลิกภาพด้วย เป็นเหตุให้มีชีวิตทางจิต ที่แบนราบเพียงสองมิติ(กว้างคูณยาว) แต่แน่นอนการปฏิเสธความรู้เท่าทันต่อชีวิตด้านใน มิได้ลบเลือนชีวิตด้านนั้นออกไปได้ ในทางกลับกัน เรายิ่งจะถูกครอบงำจากชีวิตด้านในมากยิ่งขึ้น ความกลัวสุดขีด ความรู้สึกผิด ความปรารถนาอันน่าอับอาย ภาพสวยงามในฝัน อสรพิษร้าย ลิงอุรังอุตัง ตลอดจนบรรดาทวยเทพ ประกอบกันขึ้นเป็นเทวดาและภูตผีภายในตัวเรานั้นเอง”


ระดับที่สอง อัตลักษณ์ที่เชื่อมโยงกับการครอบครองและถูกครอบครอง


ระดับที่สอง จะเป็นระดับที่มีเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์ขึ้นมาแล้ว แต่มันเป็นไปในสิ่งที่ตัวเองเข้าไปสังกัด และหรือเข้าไปครอบครอง คล้ายดังที่อีริค ฟรอมนักคิดและนักจิตวิทยาคนหนึ่งที่กล่าวว่า มนุษย์จะดำรงชีวิตอยู่ในมิติของ To Have เท่านั้น หากเขายังไม่ได้ไปถึงระดับ To Be เขายังขึ้นอยู่กับสิ่งที่เขามีในครอบครองมากกว่า ที่จะเป็นไปด้วยคุณสมบัติภายในของเขาจริง ๆ 


ระดับที่สองนี้เองที่ทำให้สังคมดำเนินไปได้อย่างที่มันเป็น ซึ่งยังไม่ใช่สังคมในอุดมคติ หากยังเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยความอยุติธรรมและไม่เอื้อเฟื้อต่อ การพัฒนาการของมนุษย์ในระดับที่สามที่จะได้กล่าวถึงต่อไป


อดัม เคิร์ลกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า


“เอกลักษณ์แบบครอบครองนี้ได้กลายมาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ที่เราจะลุกขึ้นมาตอบโต้อย่างแข็งขันและรุนแรงต่อสิ่งที่จะมาทำลายเอกลักษณ์อันนี้ของเรา ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากสามีหรือภรรยาของเราไม่สัตย์ซื่อ สุนัขของเรา ดูจะเคล้าเคลียผู้มาเยือนที่ไม่รู้จักมากว่าเจ้าของเอง ภาพเขียนที่เราเลือกมากที่สุดแล้วกลายเป็นของปลอม บุตรธิดากลายเป็นพวกฮิปปี้... เหล่านี้ ไม่เพียงแต่ทำให้เราโกรธ หรือเศร้าเสียใจเท่านั้น แต่จะทำให้เราตื่นตกใจ เพราะว่าส่วนหนึ่งของเอกลักษณ์ที่ปิดบังไม่ให้เรารู้ว่า เราไม่สามารถที่จะเผชิญกับตนเอง ได้ถูกทำลายลง เราจะถูกผลักไสให้ตกอยู่ในสภาพสิ้นหวังอย่างยาวนาน และเราก็ยิ่งจะแสวงหาหลืบมุมทางจิตวิทยาที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น โดยจะเห็นได้ว่าเป็นปฏิกิริยาที่แสดงออกอย่างเกินกว่าเหตุ”


“เพราะเอกลักษณ์แบบครอบครองนั้น แม้ว่าจะผูกรัดมนุษย์ไว้ไม่ให้เจริญงอกงาม แต่ก็สามารถให้กรอบที่อาศัยอ้างอิงเพื่อให้เกิดความมั่งคง เป็นรูปธรรมที่เราจะเกาะเกี่ยวเอาไว้ เอกลักษณ์แบบนี้ประสบความสำเร็จ ที่ทำให้เราเห็นว่า เรายืนอยู่ที่ไหน”


และแล้ววัตถุนิยมแบบแข่งขันก็เข้ามา


“ที่ว่าเป็นแบบวัตถุนิยม ก็เพราะการประเมินค่าตนเองของเขาขึ้นอยู่กับวัตถุ แม้ว่าวัตถุนั้นจะรวมเอาเรื่องของคุณภาพเข้าไว้ด้วยก็ตาม เช่น เรื่องของการมีรสนิยม หรือการมีความละเอียดอ่อนในการรับรู้ความรู้สึกบางเรื่องบางประการก็ตาม สิ่งเหล่านั้นก็ยังเป็นสิ่งที่พวกเขารับมาจากภายนอกตัว มากกว่าที่จะเป็นธรรมชาติที่แท้จริงของตัวพวกเขา ซึ่งถ้าจะให้เพื่อนของเขาบอกเขาว่า เขาเป็นคนอย่างไร เขาก็จะได้รู้ว่า เพื่อนของเขาไม่ได้คิดเห็นอย่างเดียวกับเขา ดังนั้น การประเมินค่าของเขาเกี่ยวกับตนเองจึงผิดพลาด เขาอาจจะให้คุณค่าสูงส่ง ต่อองค์ประกอบสำคัญ ๆ ที่สร้างเอกลักษณ์ของเขาขึ้นมา โดยที่จริง สิ่งเหล่านั้น ก็ไม่ได้มีคุณค่าถึงขนาดนั้น...”


“ที่ว่าเป็นแบบแข่งขันก็เพราะ ถ้าหากเราประเมินค่าตัวเราเองจากสิ่งภายนอก เราก็จะวัดตนเองด้วยการเปรียบเทียบกับคนอื่น และผลที่ตามมาก็คือ เราจะถูกผลักดันให้ต้องการครอบครองวัตถุสิ่งของมากขึ้น หรือต้องการเกียรติยศ หรือต้องการคุณสมบัติที่เป็นมาตรฐานในไม้บรรทัดของเรา ทั้งนี้ก็เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเหนือกว่าผู้อื่น”


เทียบเคียงสองระดับของพัฒนาการของมนุษย์กับงานของเดวิด กอเตน


กอเตนเขียนลำดับพัฒนาการของสังคมมนุษย์ไว้ในหนังสือเล่มล่าสุดของเขาชื่อ The Great Turning: From Empire to Earth Community,2006 แบ่งพัฒนาการทางสังคมออกเป็นห้าอันดับ 


อันดับแรกคือ Magical consciousness เป็นสภาวะเด็กที่ยังไม่แยกออกจากมารดา โลกเต็มไปด้วยมนต์วิเศษ แต่ไม่อาจเข้าใจมนต์วิเศษนั้น หากต้องพึ่งสิ่งศักดิ์ที่อยู่เหนือตน


อันดับที่สองและสามคือ Imperial Consciousness และ Socialized Consciousness อันดับที่สองคือ อัตตาตัวตน คือการเป็นเจ้าเข้าครอง เป็นการครองความเป็นเจ้าในระดับของสมองสัตว์เลื้อยคลาน และอันดับที่สาม สังคมพัฒนาขึ้นมา มีกติกามากขึ้น เป็นการทำงานของเหตุผล หรือสมองซีกซ้าย การเกิดขึ้นของยุคเรืองปัญญาหรืออภินิวัติของตะวันตก การเกิดขึ้นของลัทธิขงจื้อของจีน เป็นสังคมที่มีสัญญาประชาคม หรือ Social Contract มันก้าวหน้าขึ้นมา แต่กระนั้นก็ยังติดแหง่กอยู่กับกรอบระเบียบอันตายตัว และไม่สร้างสรรค์ มันเป็นคณิตศาสตร์แบบเรขาคณิต ที่ไม่สวมได้พอดีกับระบบชีวิต และเครือข่ายที่มีชีวิตของระบบนิเวศ ยึดหลักการ หลักคิด โดยไม่สามารถหล่อหลอมหัวใจเข้ามา มันแข็งทื่อ เพราะในหลักการแบบขงจื้อ ที่เมาเซตุงเอามาใช้อย่างสุดโต่ง ผู้คนก็กลายเป็นผักปลา ชีวิตไม่มีความหมาย หากเป็นเพียงตัวเลขทางสถิติ ดังต่อมาจีนก็ฆ่านักศึกษาประชาชนที่จตุรัสเทียนอันเหมินเป็นเรือนแสน ซึ่งถ้าเป็นตัวเลขทางสถิติก็จิ๊บจ๊อย


สังคมทุกวันนี้เป็นส่วนผสมผสานระหว่างสองและสามนี้ คือการใช้อำนาจเข้าครอง หรือระบบนักเลงหัวไม้ ผสมผสานกับกติกาทางสังคมที่ตายตัว หรือทรราชทางกฎหมาย อย่างไม่สามารถหลอมรวมหัวสมองเข้ากับหัวใจได้


และระดับนี้ ก็คือ Belonging Identity ของอดัม เคิร์ลนั้นเอง อัตลักษณ์ที่พวกเขาพากันครอบครอง และองค์กรหรืออัตตาตัวตนที่ใหญ่กว่า ที่ตัวเองเข้าไปสังกัดอยู่ มาอรรถาธิบาย มาเป็นเหตุผลแห่งการดำรงอยู่ และเป็นเกณฑ์กฎการดำเนินชีวิตของตัวเอง


ระดับที่สาม ความรู้เท่าทันตัวเองที่เปล่งประกายเต็มที่


การอรรถาธิบายเอกลักษณ์แบบรู้เท่าทัน เคิร์ลใช้ถ้อยคำอธิบายของมาสโลว์มาอธิบาย ดังต่อไปนี้


“ในประสบการณ์ที่จุดสุดยอด เราจะปล่อยวาง และมองสิ่งต่าง ๆ อย่างเป็นภาวะวิสัย เราจะรับรู้โลกอย่างเป็นอิสระ ไม่เพียงแต่จะเป็นอิสระจากผู้รับรู้เท่านั้น หากยังเป็นอิสระจากจุดยืนของมนุษย์เองอีกด้วย ผู้รับรู้จะสามารถมองธรรมชาติตามที่มันเป็นจากจุดยืนของมันเอง ไม่ใช่ว่ามองสิ่งต่าง ๆ ว่าเป็นเพียงสิ่งแวดล้อมที่รายรอบตัวมนุษย์ และมองสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นว่าเป็นไปเพื่อรับใช้เป้าประสงค์ของมนุษย์ เขาสามารถถอนตัวออกจาก การนำเอาเป้าประสงค์ของมนุษย์ มาเป็นตัวกำหนดในการมองสิ่งต่าง ๆ ในฐานะที่มันเป็นตัวของมันเอง(และเป็นไปเพื่อตัวของมันเอง) มากกว่าที่จะมองในฐานะของสิ่งใช้สอย หรือสิ่งที่เรากลัว หรือสิ่งที่เราปรารถนา หรือสิ่งที่เราจะต้องมีปฏิกิริยาโต้ตอบในฐานะที่เราเป็นบุคคล มนุษย์ และมีอัตตาตัวตนเป็นศูนย์กลาง... นี่เป็นการพูดถึงการรับรู้อย่างเทพ การรับรู้ที่เหนือมนุษย์ ประสบการณ์ที่จุดสุดยอดนั้นดูเหมือนกับว่า จะยกเราให้สูงส่งยิ่งกว่าปกติ ซึ่งทำให้เราเห็นและรับรู้ได้ยิ่งกว่าตามที่เราเห็นและรับรู้โดยปกติ เรารู้สึกว่าเราเป็นคนที่เติบใหญ่ แข็งแรง สูงส่งยิ่งกว่าเดิม... กล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า การรับรู้ในประสบการณ์ที่จุดสุดยอดนี้ เราจะสามารถข้ามพ้นพรมแดนแห่งอัตตา สามารถลืมความเป็นตัวตน ไม่ยึดติดในตัวตนและไม่เห็นแก่ตัว และอาจจะไปได้ถึงขนาดที่เราจะไม่มีตัณหา จะไม่ยึดติดกับการเป็นบุคคล ไม่มีความต้องการใด ๆ ปล่อยวาง ไม่มีความอยากหรือความปรารถนาใด ๆ ... ในประสบการณ์สุดยอดนี้ กรอบแห่งกาลเวลาและสถานที่จะแปรเปลี่ยนไป อาจจะถึงขั้นที่ว่างเปล่า จากการรับรู้เรื่องกาลเวลาและสถานที่ ถ้าจะกล่าวในนัยยะบวก สิ่งนี้ก็คือประสบการณ์ที่หยั่งถึงความเป็นสากลและความเป็นนิรันดร์... บุคคลที่เข้าถึงประสบการณ์ที่จุดสุดยอด จะรู้สึกว่าวันเวลาผ่านไปอย่างกับเวลาเป็นเพียงนาที และว่านาทีหนึ่ง ๆ ก็ได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มเปี่ยม เปรียบประดุจว่า เวลาผ่านไปเป็นวันเป็นปี หรือแม้กระทั่งเป็นนิรันดร และเขายังได้สูญเสียการรับรู้ว่าเขานั้นได้อาศัยอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งในจักรวาลนี้... โลกที่มองผ่านประสบการณ์ที่จุดสุดยอดนี้ จะเป็นโลกที่สวยงาม ดีงาม เป็นที่ปรารถนาและมีคุณค่าเท่านั้น หากจะไม่เป็นโลกที่เลวร้าย หรือไม่พึงปรารถนาเลย โลกได้รับการยอมรับ ผู้คนก็จะเข้าใจโลก” 



การศึกษาเพื่อความเป็นไทในสังคมไทย


การปฏิรูปการศึกษาในเมืองไทยที่ยังล้มลุกคลุกคลานอยู่เช่นไร ก็ยังคงล้มลุกคลุกคลานเช่นนั้นต่อไป เรายังจับประเด็นหลักรองไม่ได้ เรายังไม่อาจเคลื่อนย้ายกระบวนทัศน์ได้ เนื่องด้วยเรายังมองไม่เห็นเกลียวพลวัตของการพัฒนาทางจิตวิญญาณอย่างแท้จริง


เวลานี้ความหวังกลับมาดำเนินอยู่ตรงชายขอบของระบบการศึกษา ตามความเป็นไปของทฤษฎีความไร้ระเบียบ การเปลี่ยนแปลงจะเริ่มต้นที่ชายขอบก่อน และเมื่อพลังดึงดูดของชายขอบมากพอ มันก็จะกลายสภาพระบบทั้งหมดไปตามต้นแบบที่มันสร้างขึ้น เราลองมาทำความรู้จักกับการเปลี่ยนแปลงที่ชายขอบเหล่านี้สักเล็กน้อย 


ก่อนอื่น ต้องกล่าวไว้ก่อนว่า ตัวอย่างที่ยกมานี้ ไม่ได้ครอบคลุมเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมดของสังคมไทย แต่จะกล่าวถึงเฉพาะที่ตัวเองเข้าไปมีส่วนสัมผัสโดยตรงด้วยตัวเอง หรือเข้าไปรับรู้ เพราะฉะนั้น น่าจะมีการเคลื่อนไหวเช่นนี้อีกไม่น้อย ที่เราไม่ได้เข้าไปร่วมรับรู้ด้วย


ประการแรก คือความพยายามจะสอนจรรยาบรรณในวิชาชีพ และหรือจริยธรรมโดยรวมที่นักศึกษาจะมีสำนึกต่อการมีบทบาทของตนในฐานะของพลเมืองที่มีจริยธรรม


ประมาณปี ๒๕๔๗ ภาควิชาทันตะชุมชน คณะทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เชิญทีมเสมสิกขาลัย เชียงราย หรืออีกนามหนึ่งก็คือ ทีมจิตวิวัฒน์เชียงราย ไปจัดการอบรมให้นักศึกษาปีที่๖ ที่กำลังจะจบการศึกษา คณาจารย์คิดว่า อยากให้พวกเขาได้สัมผัสอะไรพิเศษในมโนสำนึก เพื่อจะได้ตระหนักในความเป็นพลเมืองที่รับผิดชอบ ใช้เวลาอยู่กับพวกเขาจำนวนเจ็ดสิบคนราว ๆ วันครึ่ง กับอีกหนึ่งคืน


จากนั้นในเดือนกรกฎาคม ปี ๒๕๔๙ นี้ อาจารย์คณะทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็ยกทีมมา เรียนรู้ในวิถีแห่งสุนทรียสนทนา และการเรียนรู้แบบจิตตปัญญาศึกษา หรือ Contemplative Education กับสำนักจิตวิวัฒน์เชียงรายสามวันสองคืน จากนั้น เราก็ได้สร้างข่ายสื่อสารทางอินเตอเนตร่วมกัน และร่วมเรียนรู้กันมาตลอด โดยที่บางทีก็ได้มาพบปะพูดคุยกันนอกรอบอีกด้วย


ในเดือนพฤษภาคม ปี ๒๕๔๙ นี้ ทางคณะแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ได้ให้พวกเราไปทำกิจกรรมให้นักศึกษาในเรื่องจิตตปัญญาศึกษานี้เหมือนกัน เป็นเวลาวันครึ่ง กับนักศึกษาจำนวนประมาณ ๑๕๐ คน และทางคณาจารย์ก็เห็นความสำคัญว่าน่าจะได้มีการขยายงานด้านนี้อย่างมีนัยยะสำคัญ


ในปลายปี ๒๕๔๙ ราวเดือนตุลาคม นี้เอง ทางคณะแพทย์ศาสตร์ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ก็ได้เชิญพวกเราไปทำกิจกรรมการเรียนรู้แบบจิตตปัญญาศึกษาให้แก่อาจารย์ของคณะประมาณ ๓๕ คน เป็นเวลาสามวันครึ่ง กับสามคืน นับเป็นหลักสูตรที่เข้มข้น ที่ทำให้อาจารย์ตื่นตัวกันมาก และเห็นแนวทางการทำงาน ที่จะสร้างสำนึกอันดีงามให้แก่นักศึกษาของตนได้


ความพยายามอีกด้านหนึ่ง ก็มีคณาจารย์กลุ่มเล็ก ๆ อีกกลุ่มหนึ่งจากสามสถาบันได้พยายามทดลองการสอนแบบใหม่ โดยใช้หลักการความเข้าใจเรื่องการทำงานของสมอง อย่างเป็นปัจจุบัน คืออาศัยงานวิจัยล่าสุดในเรื่องการเรียนรู้ของสมอง สามสถาบันนั้นก็คืออาจารย์บางท่านจากธรรมศาสตร์วิทยาเขตลำปาง อาจารย์บางท่านในคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาอุบลราชธานี อาจารย์บางท่านจากราชภัฏเชียงใหม่ ได้พยายามจัดการเรียนการสอนที่แตกต่างออกไปจากเดิม โดยอาศัยความรู้ฐานสมอง ที่ให้ความสำคัญกับอารมณ์ความรู้สึก ที่มาที่ไปของนักศึกษา และความแตกต่างในการหาทางเข้าสู่การเรียนรู้ของนักศึกษาแต่ละคนด้วย


ทั้งหมดนี้ ผมคิดว่า จะพยายามเชื่อมโยงเครือข่ายการเรียนรู้ที่มีชีวิตนี้ เข้ากับเครือข่ายอินเตอเนตใช้เทคโนโลยีอย่างใหม่ให้เป็นประโยชน์ เพื่อทำให้การเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นนี้ยั่งยืน และงอกงาม มีนวัตกรรมใหม่ ๆ ออกมาตลอดเวลา ที่จะทำให้จิตตปัญญาศึกษาของนักศึกษาเหล่านี้เป็นจริงได้


เรื่องเล่าที่อาจเป็นแรงบันดาลใจ


อาจารย์ท่านหนึ่ง คืออาจารย์ธิดาวรรณแห่งคณะทันตะ มช. ได้นำวิถีทางอย่างใหม่เข้าไปสอนนักศึกษาในเรื่องของสำนึกเกี่ยวกับเวลา และได้บอกเล่าเรื่องมาดังนี้


วันศุกร์ที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๙

สวัสดีค่ะ

จากที่อ.วิชัยเกริ่นไว้ในฉบับก่อนหน้านี้  ก็เลยจะขออนุญาตแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้เรื่องจริยธรรมผ่านการศึกษาตนเองในเรื่อง "เวลา" อาจจะยาวนิดนึงนะคะ พยายามเรียบเรียงเพื่อให้เห็นภาพชัดเจน

กลุ่มของตัวเองนั้น แรกเริ่มนักศึกษาในกลุ่ม (13 คน) ช่วยกันคิดหาประเด็นที่ต้องการทดลองทำการศึกษาที่เป็นประเด็นร่วมของกลุ่ม เป็นประสบการณ์ร่วมของกลุ่ม ปรากฎว่าเขาเลือกเรื่องของการเข้าห้องเรียนไม่ตรงเวลา การไม่ไปตามเวลานัดเมื่อมีการประชุมกลุ่มทำงานกับเพื่อน หรือการนัดเวลาในการทำกิจกรรมต่างๆ จนมีคำที่รียกกันในหมู่นักศึกษาว่า "dent time" หมายความว่า พวกนักศึกษาทันตะนัดแล้วไม่เคยตรงเวลา และเป็นเรื่องปกติที่จะไม่ตรงเวลา ถ้ามีนัดแล้วควรไปหลังเวลานัดจึงจะเจอผู้คน นักศึกษาบอกว่าเค้าเรียนรู้วัฒนธรรม dent time เมื่อเข้ามาเรียนที่นี่ ทั้งๆที่เมื่อก่อนอยู่บ้าน หรือเป็นเด็กนักเรียนตัวเองเคยเป็นคนที่ตรงเวลา ให้ความสำคัญกับการนัดหมายมาตลอด 

ที่จริง คำว่า dent time นี้เป็นคำ และเป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยที่ตัวเองเป็นนักศึกษาอยู่ (ก็กว่า 10 ปีแล้ว) 

เริ่มแรกด้วยความที่ตัวเองก็ยังจับต้นชนปลายไม่ถูก ก็คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ดีในการศึกษา เพราะเห็นประเด็นชัดดี และเห็นความตั้งใจของกลุ่มแล้วน่าจะเกิดจากความตั้งใจของกลุ่มจริงๆในการสังเกตตัวเองในเรื่องนี้

แต่พอได้อ่านการบ้านที่ฝากนักศึกษาไปเขียน ก็เริ่มเห็นอะไรบางอย่างที่ทะแม่งๆ

คือขอให้เค้าไปสังเกตตัวเองว่าสามารถควบคุมตัวเองในเรื่องของการนัดหมายและการวางแผนในการใช้เวลาของตัวเองได้อย่างไรบ้างในช่วงหนึ่งสัปดาห์ โดยให้เขียนงานมาส่ง 2 ครั้งต่อสัปดาห์ 

ปรากฎว่า นักศึกษาส่วนใหญ่ เขียนบันทึก ตัวเลข ว่าในแต่ละวันเค้าเข้าห้องเรียน กี่โมง เช่น 8.05 น., ช้าไป 10-15 นาที ตื่น 7.35 น. บางคนก็เขียนว่า วันเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา ไม่มีนัดกับใคร ก็เลยไม่ late 

เมื่อมีโอกาสได้ไปพบอ.วิศิษฐ์ และทีมงานที่เชียงราย ก็ได้เห็นสิ่งที่มันบังตาตัวเองอยู่ อ.วิศิษฐ์ฟังแป๊บเดียวก็บอกได้เลยว่า จุดอ่อนของสิ่งที่ทำอยู่คืออะไร อาจารย์บอกว่า ตอนนี้ประเด็นเรื่องเวลาถูกทำให้แปลกแยกออกไปจากชีวิตของนักศึกษา ดูเหมือนว่าไม่ได้เป็นประเด็นที่เกิดจากแรงบันดาลใจที่แรงพอ และ"เวลา"ถูกมองในมิติที่ plain แข็ง และ ไม่เป็นธรรมชาติ 

พอได้ฟังอาจารย์วิศิษฐ์ตั้งข้อสังเกตก็ได้คิดว่า อืมมม จริงด้วย.....มีนักศึกษาคนนึงก็เขียนข้อสังเกตมาว่า "มนุษย์เรามีชีวิตจิตใจ ไม่ใช่หุ่นยนต์ที่ถูกตั้งโปรแกรม มนุษย์มีอารมณ์ที่แปรปรวนง่าย ทำให้โปรแกรมที่วางไว้ไม่เป็นไปตามแผน....การวางแผนเป็นเรื่องที่ดีแต่ไม่ควรทำอย่างเอาเป็นเอาตาย..."

อ.วิศิษฐ์และทีมก็ได้เสนอว่า ลองให้นักศึกษาอ่านเรื่อง โมโม่ ดีมั้ย เพราะเป็นเรื่องที่พูดถึงเวลาในมิติที่หลากหลาย และพูดถึงการต่อสู้ของคนกับสังคมที่กำลังเปลียนแปลงไปสู่การใช้ชีวิตที่เร่งรีบมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว 

หลังจากกลับมาก็ได้หยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่าน และได้ตัดสินใจเลือกตัดทอนส่วนหนึ่งของหนังสือให้นักศึกษาได้อ่าน เป็นบทตอนที่กล่าวถึง "ผู้ชายสีเทา" (ผู้ต้องการเวลาของมนุษย์ และหาทางทำให้มนุษย์ "ประหยัดเวลา" โดยทำทุกอย่างด้วยความเร่งรีบมากขึ้น เพื่อสะสมเวลาไว้ใช้ในภายหลัง) เมื่อเริ่มเข้ามาในเมื่อง และทำให้ชีวิตของคนเริ่มเปลี่ยนแปลง 

ตัวเองได้แบ่งกลุ่มนศ. 13 คนเป็นกลุ่มย่อยกลุ่มละ 4-5 คน และนัดเค้ามานั่งคุยกันหลังเลิกเรียน ทีละกลุ่ม โดยให้เค้านั่งอ่าน โมโม่ บทดังกล่าว จากนั้นก็นั่งคุยกันว่า ได้อะไรจากการอ่านเรื่องนี้บ้าง แล้วชวนกันพูดคุยเรื่อง "เวลา" ในแง่มุมอื่นๆที่นอกเหนือไปจากนาฬิกาและปฏิทิน พูดคุยถึงการให้ความหมายของ "เวลา" "การเสียเวลา" และ พูดคุยกันถึง "ผู้ชายสีเทา" ว่าเค้าคิดว่า มันคืออะไร คือใคร และเค้าคิดอย่างไร คิดว่าทุกวันนี้มีผู้ชายสีเทาอยู่ในสังคมเราหรือไม่ แล้วก็พูดคุยกันถึงประโยคในหนังสือที่ว่า "เวลาคือชีวิต และชีวิตเราก็เป็นส่วนนึงของคนอื่น" 

อ้อ...ลืมบอกไปว่า ได้ลองใช้การพูดคุยกันผ่าน "ก้อนหินพูดได้" นะคะ 

ความรู้สึกตอนที่นั่งฟังนักศึกษานั้น ตัวเองรู้สึกได้ถึงพลังอะไรบางอย่างที่ออกมาจากกลุ่ม แตกต่างมากๆจากการบ้านที่เค้าเขียนมาส่งในช่วงก่อนหน้านี้ (ที่มันออกมาเป็นการสรุปตารางเวลาในแต่ละวัน) หลายคนตั้งข้อคิดเรื่องเวลาผ่านการเล่าประสบการณ์ชีวิตของตัวเอง เป็นการทบทวนการใช้ชีวิต การใช้เวลาของตัวเองในช่วงชีวิตที่ผ่านมา เช่น มีนศ.คนนึงเล่าให้กลุ่มฟังว่า เมื่อตอนเรียนมัธยม ด้วยความที่เป็นเด็กต่างจังหวัดเข้าไปเรียนที่กรุงเทพ ทำให้ตั้งใจว่าจะเรียนให้ดีที่สุด ก็เลยไม่ปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ อ่านหนังสือตลอดเวลา แม้กระทั่งขณะที่เดินอยู่ การบ้านวิชาศิลปะก็เอาไปนั่งทำในรถด้วย จนกระทั่งมีเพื่อนมาขอปรึกษาเค้าเรื่องแฟน เรื่องความรัก ทั้งๆที่ตัวเองก็ไม่เคยมีแฟน แต่ก็ได้แต่นั่งฟัง ครั้งนั้น เพื่อนเค้าขอบคุณเค้าอย่างมากที่สละเวลามานั่งฟังเค้า ตอนนั้น นักศึกษาคนนี้ถึงได้รู้ตัวและตกใจว่า เวลาของตัวเองมันมีค่ากับเพื่อนได้มากขนาดนั้นเลย

หลังจากนั่งพูดคุยกันจนพอสมควร ก่อนแยกย้ายก็ขอให้ทุกคนนั่งเขียนสิ่งที่ได้จากการพูดคุยในครั้งนั้น มีหลายๆข้อความที่อยากจะเอามาแบ่งปันตรงนี้นะคะ 

นศ.คนนึงที่เรียนซ้ำมาหลายปีเขียนว่า "นานแล้วที่ไม่ค่อยได้ใช้ความคิดที่สร้างสรรค์แบบนี้ มันทำให้รู้สึกว่า เอ้อ เนอะ!! เราก็มีศักยภาพในตัว ดึงความคิดดีดี จากสมองที่มีรอยหยักเท่าเดิมออกมาได้"

อีกคนนึงเขียนว่า "ความจริงวันนี้ตอน 4 โมงเย็น ก็รู้สึกเหมือนกันว่าทำไมอาจารย์ต้องนัดตอน 6 โมงด้วย ทั้งๆที่เป็นวันศุกร์ น่าจะได้กลับบ้านไปพักผ่อน แต่ตอนนี้รู้สึกเปลี่ยนไปแล้ว รู้สึกว่า การที่ได้มาพบอาจารย์ในวันนี้ "ได้เวลา" มากกว่า "เสียเวลา" เพราะมันทำให้หนูรู้ว่าหนูกลับบ้านไป late สัก 2 ชั่วโมง แต่หนูเห็นคุณค่าของเวลาที่เหลืออยู่ที่บ้านคืนนี้"

อีกคนเป็นผู้ชาย เขียนว่า "เรื่อง 'เวลา' 'การใช้เวลา' ทุกคนรู้อยู่แก่ใจอยู่แล้ว เป็น sense อย่างนึงที่เราน่าจะคิดเองได้ แต่บางทีเราอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เราไม่สามารถทำตามที่คิด หรือทำโดยไม่คิดก็มี แต่เมื่อไหร่ที่เราได้คิด หรือการที่เราได้คิดบ่อยๆ ผมว่าสิ่งนี้แหละครับที่มีค่าสำหรับผม ถึงบางทีเราอาจจะทำอย่างที่คิดได้ไม่หมด แต่ก็ขอให้ทำเป็นจำนวนครั้งมากๆ ทำบ่อยๆ รู้ตัวว่าทำ ผมว่าก็ดีกว่าไม่ทำเลย"

นั่นเป็นส่วนนึงของสิ่งที่นักศึกษาเขียนหลังจากพูดคุยกันเรื่องเวลา โดยมีบางตอนจากเรื่อง โมโม่ เป็นตัวจุดประเด็น 

อยากจะขอบพระคุณอาจารย์วิศิษฐ์และทีมงานมากๆเลยนะคะ ที่ได้ให้คำแนะนำที่มีคุณค่ามหาศาลกับการจัดการเรียนรู้ครั้งนี้ คือตัวเองได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในบรรยากาศการเรียนรู้ไปในทิศทางที่มีพลังมากขึ้น มีชีวิตชีวามากขึ้น ขอบคุณมากนะคะที่ทำให้นักศึกษาได้มีโอกาสที่ดีๆอย่างนี้

หลังจากการพูดคุยวันนี้นก็ได้ให้นักศึกษาลองไปเฝ้ามองดูตัวเอง ว่าในการใช้ชีวิตในช่วงหนึ่งสัปดาห์ต่อจากนั้น เค้าได้สังเกตเห็น หรือเรียนรู้ข้อคิดอะไรใหม่ๆเกี่ยวกับ "เวลา" บ้าง และขอให้เขียนมาเล่า หนึ่งครั้งต่อสัปดาห์

วันนี้มีนักศึกษาบางคนได้ส่งการบ้านนั้นมาแล้ว เท่าที่อ่านคร่าวๆรู้สึกว่า นักศึกษามีความสุขกับการเขียนครั้งนี้ เพราะแต่ละคนเขียนมาค่อนข้างยาว ไม่ฝืดเหมือนกับช่วงต้น 

สิ่งที่ได้พบอีกอย่างคือ ทีแรกเราคิดว่าการเขียนเป็นอุปสรรคของนักศึกษา แต่ที่จริงอุปสรรคของนักศึกษาอยู่ที่ตัวอาจารย์เองต่างหากที่จุดประเด็นไม่ถูกที่ 

นอกจากนั้นนะคะ พบว่าการเขียนเรื่องราวเหล่านี้ สำหรับนักศึกษาหลายๆคน กลายเป็นพื้นที่หนึ่ง ที่เค้าใช้ในการระบายความคับข้องใจบางอย่าง บางคนเขียนถึงความรู้สึกผิดที่ฝังใจอยู่ในอดีต และตั้งใจว่าในเมื่อเวลามันย้อนกลับคืนมาไม่ได้ก็จะทำเวลาในปัจจุบันให้ดี  บางคนก็กำลังรู้สึกคับข้องใจที่ถูกเพื่อนสงสัย ไม่ไว้ใจอะไรบางอย่าง แต่เค้าเชื่อว่าเวลาจะเป็นสิ่งที่พิสูจน์ ความจริง และเวลาจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้เค้าปล่อยวางความไม่พอใจที่มีต่อเพื่อนคนนั้นได้ในที่สุด

วันนี้รู้สึกว่าเขียนยาวมากแล้ว เอาไว้คราวหน้า หลังจากอ่านงานที่นักศึกษาส่งมาอย่างละเอียดแล้ว คงได้มีอะไรมาเล่าสู่กันฟังอีกนะคะ 

ธิดาวรรณ 





ห้องเรียนในอุดมคติของเคิร์ล


เคิร์ลมีประสบการณ์สอนหนังสือนักศึกษาระดับสูงกว่าปริญญาตรีขึ้นไป ในหัวเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการศึกษาและการพัฒนาในประเทศยากจน ประการแรกเขาไม่เห็นว่าการศึกษาก็คือการศึกษาเรื่องราวของระบบที่เป็นอยู่ เพื่อดำรงระบบที่เป็นอยู่ เขากลับเห็นว่า การศึกษาน่าจะเป็นหนทางให้สามารถหาทางออกไปจากระบบที่เป็นอยู่ไปสู่อะไรที่ดีกว่าได้ เขามองตัวเองว่า สามารถมองเห็นเสี้ยวส่วนหนึ่งของปัญหาและคำตอบการศึกษาในห้องเรียนของเขา เขาจึงเปิดให้นักศึกษาเข้ามาร่วมค้นคว้าและคิดหาคำตอบร่วมกัน


เคิร์ลเห็นว่า ห้องเรียนอุดมคติน่าจะมีสมาชิกเข้าร่วมเรียนประมาณ๑๕คน ซึ่งน่าจะเป็นตัวเลขที่ให้ความหลากหลาย ในขณะเดียวกัน ก็ไม่มากเกินที่จะสื่อสารถึงกันได้อย่างสนิทสนม เขาถือว่าตัวเขาเป็นเพียงคน ๆ หนึ่ง ที่เข้าร่วม เขาให้ชมรมที่เกิดขึ้นในห้องเป็นองค์กรจัดการตัวเอง ให้ร่วมกันกำหนดทิศทาง กำหนดประเด็น กำหนดวิธีการที่จะศึกษาหาความรู้ความเข้าใจร่วมกัน 


ในห้องของเขาไม่มีการสอบ แต่ละคนซึ่งมีความแตกต่างจะร่วมกันมีคุณูปการตามที่ตนถนัด ผลได้ ในห้องมักจะมีคนที่ได้เรียนรู้อะไรมากมาย ทั้งเนื้อหาและวิธีการอยู่โดยส่วนใหญ่ แน่นอนบางคนอาจจะมีคุณูปการน้อยกว่าคนอื่น ๆ บ้าง แต่เคิร์ลไม่เห็นความจำเป็นของการสอบและการให้คะแนน เขาเห็นว่า นั่นก็คือการสนับสนุนการแข่งขันและก็คือการสนับสนุนเครือข่ายของการเอารัดเอาเปรียบที่ดำรงอยู่ในระบบ


โดยสรุป การเรียนการสอนแบบนี้ หนึ่ง ความสัมพันธ์ครูศิษย์ดำรงอยู่ในความเท่าเทียมกัน ครูไม่ได้กอดความรู้ของตัวเองที่มีอยู่และปกป้องมันว่า มันไม่อาจจะผิดพลาดได้ และครูไม่ได้มีคำตอบถูกต้องอยู่แล้ว การสืบค้นหาคำตอบ ทำร่วมกันอย่างจริงแท้ โดยครูก็เปิดใจกับคำตอบที่จะโผล่ปรากฏขึ้นมา


สอง กระบวนการหาความรู้ คือสิ่งที่สำคัญที่สุด ในการเรียนรู้แบบนี้ ไม่ใช่ตัวเนื้อหาหรือความคิดอ่านที่เป็นผลพวงจากกระบวนการ เพราะถ้าจะมองสังคมมนุษย์แบบเกลียวพลวัตที่มีการพัฒนาและวิวัฒนาอยู่ตลอดเวลา การติดอยู่ที่คำตอบตายตัวหนึ่งใด ย่อมก่อให้เกิดปัญหาได้ โดยเฉพาะมันจะไปหนุนความเลวร้ายของวัตถุนิยมแบบแข่งขัน และเครือข่ายแห่งการเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งเคิร์ลเห็นว่า เป็นตัวร้ายที่มาทำลายสันติสุขในสังคมมนุษย์


สาม ในหลายกรณี จะมีประเด็นร้อนเกิดขึ้น ดังตัวอย่างเช่น ในเรื่องของความแตกต่างทางเชื้อชาติและศาสนา เป็นต้น ซึ่งมักจะเป็นความขัดแย้งที่รุนแรง อย่างน้อยก็ทางอารมณ์ความรู้สึก และทำให้การเรียนรู้ร่วมกันอย่างสันติ เป็นไปไม่ได้ เคิร์ลได้กล่าวถึงเรื่องนี้ และยังมองไม่เห็นทางออกชัดเจนนัก แต่ต่อมาในระยะหลัง ๆ ของชีวิต เคิร์ลได้ใช้เวลาในการทำงาน เพื่อสร้างสันติภาพในดินแดนที่มีความขัดแย้งอย่างรุนแรงมากยิ่งขึ้น จนกลายเป็นตัวหลักสำคัญในการหาคำตอบให้กับการแก้ปัญหาเหล่านี้ ได้อย่างมีความหวังและมีพลัง ดังจะนำเนื้อหาคัดย่อจากหนังสือที่เขาเขียนเล่มหนึ่ง มาเล่าให้ฟังดังต่อไปนี้



อีกหนทางหนึ่ง อันตอบสนองด้านบวกต่อความรุนแรงในปัจจุบันกาล

จากหนังสือชื่อ Another Way: Positive response to contemporary violence, 1995 ของเขา มี Tanya Glaser เขียนเนื้อหาย่อไว้ว่า

สงครามเย็นไม่ได้นำสันติภาพมาสู่โลกดังที่หวังเอาไว้ กลับเป็นว่า ความรุนแรงเกิดขึ้นทั่ว ๆ ไปอย่างปราศจากเป้าหมายหรือทิศทาง เคิร์ลมีข้อคิดว่า ความรุนแรงในปัจจุบันสมัยเกิดขึ้นจาก “ความแปลกแยก” วิถีทางการเมืองอย่างเดียวไม่สามารถหยุดยั้งความรุนแรงเช่นนี้ได้ สันติภาพที่ยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ จะต้องมี “การเปลี่ยนแปลงของหัวใจอย่างกว้างขวาง” ประสบการณ์ของเขาที่โยโกสลาเวีย ทำให้เขาเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงเช่นนั้นเป็นไปได้ และเขาก็ได้นำเสนอวิถีทางสร้างสันติแบบใหม่ขึ้นมาในยุคแห่งความแปลกแยก

และเคิร์ลได้พูดถึงสงครามเย็น กับธรรมชาติที่แท้จริงแห่งปัญหาของมันไว้ว่า


อดัม เคิร์ลคิดเห็นว่า ธรรมชาติของมนุษย์นั้น ไม่ได้รุนแรงมาโดยกำเนิด แต่ความรุนแรงของมนุษย์เกิดมาจากมายาคติสองประการ หรือมายาคติว่าด้วย Stability และ Permanence อาจจะแปลว่า “เสถียรภาพ” และ “นิจจะ” หรือ “ความเที่ยงแท้คงทน” มายาคติสองประการนี้ ทำให้เราคิดว่าเราสามารถเข้าถึงความสุขได้ อันหมายถึงความสุขอันเที่ยงแท้คงทน โดยเข้าไปจัดการกับเหตุการณ์และสิ่งแวดล้อม มากกว่าที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ความไม่มีสุขภายในตัวคน จึงได้ฉายออกไปข้างนอก ฉายไปยังโลก ความคับค้องใจ ด้วยเหตุที่ไม่มีความสุขนี้เอง ได้ก่อเกิดการกระทำที่รุนแรง ซึ่งทำให้เกิดสภาพของเหตุการณ์และสิ่งแวดล้อมที่ไม่อาจเข้าไปจัดการอะไรได้นี้มากขึ้น

เคิร์ลได้ทบทวนรูปแบบและที่มาของความขัดแย้งอันรุนแรงจากเริ่มแรกของประวัติศาสตร์แห่งมนุษย์มาจนถึงปัจจุบันกาล ธรรมชาติของมนุษย์นั้นก็เป็นเช่นเดิม แต่บริบทได้แปรเปลี่ยนไปอย่างมาก ดังนั้นธรรมชาติของความรุนแรงก็แปรเปลี่ยนไปด้วย นอกจากความรุนแรงของรัฏฐาธิปัตย์และการทหารระดับโลกแล้ว อีกด้านหนึ่งของที่มาแห่งความรุนแรงในสมัยนี้ ก็คือการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเทคโนโลยี เหตุปัจจัยเหล่านี้ ได้ทำให้ผู้คนแปลกแยกจากสังคม และจากความผูกพันร่วมกันของมนุษยชาติ ผู้คนที่แปลกแยก ความผูกพันกับผู้คนจะถูกทำให้เสียหาย ดังนั้นพวกเขาจะมีแนวโน้มที่ง่ายต่อการก่อเกิดความสัมพันธ์ที่ไม่มีสันติและเป็นความสัมพันธ์ที่รุนแรง


และเขาได้กล่าวถึงหนทางไปสู่สันติภาพว่า


คนทำงานเพื่อสันติไม่เพียงแสวงหาการยุติความขัดแย้ง หากยังพยายามก่อให้เกิดความสัมพันธ์อย่างสันติระหว่างคู่ขัดแย้ง เพื่อจะให้งานมีประสิทธิภาพ คนทำงานเพื่อสันติจะต้องบ่มเพาะความตื่นรู้อันเข้มแข็งต่อตัวของพวกเขาเอง และต่อความพัวพันเชื่อมโยงอย่างอิงอาศัยกันและกันของชีวิตทั้งหลาย คนทำงานเพื่อสันติจะต้องบ่มเพาะทัศนคติแห่งสันติวิถีในเรือนใจ สันติวิธีเป็นมากกว่า ความพยายามจะหลีกเลี่ยงความรุนแรง มันเป็น แบบแผนของอารมณ์ความรู้สึกในทิศทางของความรักเอาใจใส่และความห่วงใย

และได้กล่าวถึงทิศทางการช่วยเหลือที่เป็นอยู่และที่ควรจะเป็นว่า

ความช่วยเหลือต่าง ๆ เพื่อการพัฒนานั้น เรามักจะคิดกันว่า เป็นหนทางที่จะช่วยก่อให้เกิดสันติภาพ เพราะมันไปช่วยให้ก่อเกิดความมั่งคั่ง เคิร์ลชี้ให้เห็นว่า ความช่วยเหลือเพื่อให้เกิดการพัฒนาเหล่านี้ไม่ได้ก่อให้ประโยชน์แก่มวลชนผู้ยากไร้แต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม มันยังเป็นโทษแก่พวกเขาอีกด้วย หากความช่วยเหลือจะเป็นประโยชน์ในการสร้างสันติภาพแล้วไซร้ เคิร์ลนำเสนอว่า การพัฒนาควรจะมุ่งไปที่การให้ความมั่นใจว่า ผู้คนจะมีปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นในการดำรงชีวิต และพื้นฐานจำเป็นเพื่อการเจริญงอกงาม ทำอย่างไร จะมีสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย จะมีชีวิตทางวัฒนธรรมที่ร่ำรวยและพึงพอใจ  และมีการกระตุ้นให้เกิดความงอกงามและพัฒนาการในความเป็นมนุษย์ยิ่ง ๆ ขึ้นไป

บทสรุปคือบทเริ่มเรื่อง

เคิร์ลแบ่งการเข้าถึงเอกลักษณ์แบบรู้เท่าทันออกเป็นสองแบบ คือ Mystic กับ Militant หรือแบบนักกิจกรรมสังคมกับแบบนักภาวนา พวกแรกแสดงออกผ่านตามต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม พวกหลังต้องการชำระตัวเองให้บริสุทธิ์ก่อน สำหรับเคิร์ลแล้ว เขาเห็นว่า เมื่อความรู้เท่าทันเติบโตเต็มที่ บุคลิกทั้งสองแบบจะมาบรรจบกันในตัวคน ดังเช่นที่เกิดขึ้นในกรณีของคานธี

ผมคิดว่าทางออกของโลกและของสังคมไทยเช่นกัน ก็คือการหลอมรวมสองวิถีนี้เข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นงานทางด้านสันติวิธีหรืองานด้านการศึกษาของเคิร์ล กล่าวคือสาระสำคัญหรือหัวใจของมันต่างก็มุ่งชี้ไปที่การพัฒนาทางจิต แต่การพัฒนาทางจิตที่ว่านี้ไม่ใช่เพียงการนั่งหลับตา และสร้างความสงบในเรือนใจ แน่นอนความสงบในเรือนใจต้องสร้างขึ้นมาด้วย แต่ทั้งหมดต้องเอากลับไปตอบคำถามทางการอยู่ร่วมกันเป็นสังคมของมนุษย์ได้ด้วย วิถีแห่งการหลุดพ้นจึงไม่ใช่วิถีของปัจเจกบุคคลในการปฏิบัติธรรมเท่านั้น หากจะต้องเป็นการเต้นรำอย่างงดงามระหว่างการพัฒนาด้านในของตัวเอง และการทำงานเพื่อลดความรุนแรงทางโครงสร้างของสังคมมนุษย์

โจทย์ของเคิร์ลอยู่ที่การรู้เท่าทัน ทำอย่างไร “ความรู้เท่าทัน” นี้จะกลายมาเป็นคุณสมบัติปกติของสมาชิกในสังคมโลก เคิร์ลกำลังพูดถึงตัวสภาวะทางจิต ในฐานะที่เขาเป็นเควกเก้อ อ้นเป็นศริสตศาสนิกอันก้าวหน้าที่สุดนิกายหนึ่ง ที่หนทางเข้าถึงพระเจ้าของพวกเขาเป็นไปอย่างเท่าเทียม เที่ยงตรง และให้ความสำคัญกับการใคร่ครวญและสงบเงียบ พร้อม ๆ ไปกับ “การพูดความจริงกับอำนาจ” เขาจึงมองเห็นว่า งานที่แท้จริง ทั้งทางการศึกษาและทางการสร้างสรรค์สันติภาพ จึงอยู่ที่การพัฒนาวุฒิภาวะทางจิต หรือการพัฒนาทางจิตวิญญาณ หรือจิตตปัญญาศึกษา เมื่อพัฒนาอย่างเต็มที่แล้ว ก็จะเกิดความรู้เท่าทัน อันจะช่วยประคับประคอง “ความเป็นปกติ” ให้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสภาวะจิต อันก่อให้เกิดความรุนแรง

เมื่อกลับมาอ่านหนังสือของเขาอีกครั้ง ก็ยังพบว่า ถ้อยคำของเขายังล้ำสมัย ถ้อยคำของเขายังมีความหมาย แม้ว่าหนังสือบางเล่มของเขาจะเขียนมากว่ายี่สิบปีแล้วก็ตาม

อีกประการหนึ่ง เมื่อศึกษาดูลำดับญาติของเขาในอังกฤษ ก็จะเห็นว่า บรรพบุรุษและบรรพสตรีของเขา เป็นกลุ่มปัญญาชนของอังกฤษ ที่คิดการณ์ก้าวล้ำไปในอนาคตทั้งนั้น อ้นนี้ก่อให้เกิดกำลังใจอย่างยิ่งว่า งานของคนแต่ละรุ่นคน ไม่ได้เป็นไปโดยเปล่าประโยชน์ มันได้มีการส่งถอดงานข้ามรุ่นคน คิดถึงการมองมิติกาลเวลาของสมเด็จ องค์ทะไลลามะ ที่ท่านกล่าวว่า การทำความดีงาม การสร้างสรรค์สังคม ไม่อาจคิดสั้น ๆ ได้ หากจะต้องคิดกันแบบข้ามชาติข้ามภพ คิดกันในช่วงกาลเวลาของห้าสิบชาติภพขึ้นไป ด้วยเหตุนี้ บางทีงานบางอย่างที่ดูเหมือนไม่ขยับเขยื้อนนั้น เมื่อเปลี่ยนกรอบเวลาดู เราก็อาจจะเห็นความเคลื่อนไหวอย่างมีชีวิตชีวาก็ได้

คนที่มีความรู้เท่าทันที่อย่างเคิร์ลต้องการนั้น เมื่อผนวกความคิดของกอเตนเรื่องลำดับพัฒนาการของมนุษย์ โดยเฉพาะในเรื่อง Culture Creative หรือพวกสร้างสรรค์วัฒนธรรมของ พอล เรย์ เราจะเห็นจากตัวเลขที่ชัดเจนของพอล เรย์ว่า จากทศวรรษ ๑๙๘๐ ซึ่งตัวเลขของคนพวกนี้จะอยู่ที่หนึ่งหรือสองเปอร์เซ็นต์นั้น แต่เวลานี้ในปี ๒๐๐๖ ในยุโรปและสหรัฐอเมริกาอาจจะอยู่ที่ ๓๐ เปอร์เซนต์แล้วก็ได้ และกำลังเพิ่มขึ้นประมาณหนึ่งเปอร์เซนต์ทุกปี บรรดาคนเหล่านี้คือผู้คนที่ตื่นรู้ สนใจผสมผสานการพัฒนาด้านในเข้ากับการแก้ปัญหาสังคมมนุษย์ด้านนอก อย่างเอามาบรรสานสอดคล้องเป็นเรื่องเดียวกัน 

เราจะเห็นได้ว่า อนาคตมีความหวัง หากเราทั้งมวลร่วมกันแสวงหาหนทางชีวิตที่ตื่นรู้ พร้อม ๆ ไปกับการทำงานเพื่อสร้างสรรค์สังคมอันยุติธรรมและมีสันติภาวะ เมื่อเป็นเช่นนี้ การตายของอดัม เคิร์ล ก็จะไม่ใช่การสิ้นสุด หากทางกลับคือการเดินทางต่อ และบทสรุปก็คือบทเริ่มเรื่องใหม่ ที่พวกเราจะช่วยกันสรรค์สร้างสืบเนื่องต่อไป ใช่หรือไม่