วันอังคารที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ครูผู้เปราะบาง

ครูผู้เปราะบาง


ผมกำลังเตรียมงานสำหรับค่ายเรียนรู้ “สมองสู่จิตวิวัฒน์” เมื่อวานนี้ ก็เพิ่งจบค่ายเรียนรู้ของมหกรรมกระบวนกร แต่ทั้งหมดนี้ ก็เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับเรื่องราวที่อยากจะเขียนให้ปาจารยสาร บทความที่จะส่งให้คนอื่น ปัจจุบัน ก็มักจะเบี้ยวเสียเป็นส่วนใหญ่ ไม่ค่อยสนใจเขียนบทความเท่าไรแล้วครับ อยากทุ่มเทกับกระบวนการเรียนรู้มากกว่า และหรือไม่ ก็สะสมข้อเขียนเอาไว้พิมพ์เป็นเล่มเลย


เร็ว ๆ นี้ ผมก็นึกถึงครูประจำชั้นของผมและเพื่อน ๆ ที่อยู่ห้อง ๘๖ เรืองเหลืองมาด้วยกัน ที่โรงเรียนเตรียมอุดมครับ ครูชื่อครูฉลวย คือพอมาเป็นครูประจำชั้นของเราได้ไม่ช้านาน ครูของเราก็ไปคลอดลูก แล้วพวกเราก็ตามกันไปเยี่ยม คือปกติในชีวิตนักเรียน เรามักจะพบปะ เจอะเจอ ครูที่เข้มแข็ง สวยพริ้ง หล่อเข้มแข็ง ตลอดเวลา พร้อมกับอะไรต่อะไรทุกอย่าง เราไม่ค่อยเห็น “ความเปราะบาง” ของครู เราเห็นแต่ครูที่ไม่มีวันหักพังลงมาได้ เราก็เลย ถอยห่าง และไม่เชื่อมโยง แต่กับครูฉลวยคนนี้ ก็เด็ก ๆ ห้องนั้น ปีนั้น เรายังเชื่อมโยงกับครูอยู่เลยครับ ผมเองไม่มีโอกาสไปเจอครูอีก แต่ก็ได้แต่พยายามประสานกับเพื่อนว่า จะส่งครูมาเที่ยวเชียงรายได้ไหม ก็รอ ๆ อยู่ครับ


ตอนนี้ ที่มูลนิธิสังคมวิวัฒน์ของเชียงราย ก็มีโครงการ “ฤดูกาลของชีวิต” เป็นโครงการดูแลผู้คนที่ผ่านความทุกข์ยาก อย่างเช่นผู้ป่วยระยะสุดท้าย ก็ได้ทำงานกับจุ๋มจิ๋มครับ จุ๋มคือ หนานจุ๋ม บวชเรียนมาแล้ว ลุ่มลึกทางธรรมพอควร ตอนนี้ สมชายมีค่ายภาวนาแบบมิติใหม่กับสถาบันขวัญเมืองด้วย กำลังจะเริ่มกันวันนี้ด้วยเหมือนกันครับ ส่วนจิ๋มนั้น ป่วยเป็นมะเร็งปอด หายไปทีหนึ่งแล้ว และมาเกิดใหม่อีกครั้ง แต่ครั้งหลังนี้ เธอได้เสริมมิติทางจิตวิญญาณมารักษาตัวเองอย่างมีนัยยะสำคัญ เราเห็นเธอเบิกบานขึ้นทุกครั้งที่มาร่วมกันสร้างสรรค์กระบวนการเรียนรู้ มาร่วมกันช่วยเหลือผู้อื่น เธอมาเริ่มจากเข้าร่วมงานค่ายการเรียนรู้ต่าง ๆ ของเรา เกือบจะทุกรายการเลย ในที่สุด เธอก็ลุกขึ้นมาเตรียมจัดทำค่ายการเรียนรู้ และโครงการ “ฤดูกาลของชีวิต” เพื่อช่วยเหลือผู้คนในฤดูกาลแห่งความทุกข์ยากทั้งหลาย


เรื่องของเรื่อง จิ๋มมาเล่าให้ฟังว่า มีครูคนหนึ่งเป็นมะเร็ง เธอว่า คนเป็นมะเร็งจะสัมผัสกันได้ และจะเปิดหัวใจสื่อสารกันได้ง่ายกว่าคนนอก จิ๋มมีร้านอาหารเจ ครูคนนี้ก็มากินอาหารที่นี่ ครั้งหนึ่ง ที่เห็นผู้หญิงคนนี้ หงุดหงิด จิ๋มก็เข้าไปแล้วบอกว่า จิ๋มเป็นโรคมะเร็งเหมือนกัน แล้วเธอก็ถามว่า รักษาตัวอย่างไร และแล้วการสนทนาก็เริ่มต้นขึ้น เธอเป็นครู เมื่อเธอเป็นมะเร็ง เพื่อน ๆ และญาติ ๆ ก็แนะว่าให้หยุดงาน พักผ่อนรักษาตัว แต่จิ๋มแนะนำต่างออกไป จิ๋มแนะว่า ให้กลับไปทำงานตามเดิม ครูก็เชื่อ แปลกประหลาดมาก การกลับไปทำงานครั้งนี้ พฤติกรรมของลูกศิษย์ประถมตัวเล็ก ๆ ของเธอแปรเปลี่ยนไป พวกเขาช่วยกันดูแลครู และเลิกเกเร ก่อกวน ทำให้ครูรำคาญเหมือนเมื่อก่อน อันนี้ น่าสนใจมาก


อีกเรื่องหนึ่งของความเปราะบาง ลูกสาวเป็น Facilitator วอยซ์ไดอะล็อค Facilitator เป็นคำเรียกขาน คนที่เป็นผู้อำนวยการ ให้เกิดการเรียนรู้ในเรื่องวอยซ์ไดอะล็อค กับคนที่สนใจ จะพัฒนาตัวเอง ทำความเข้าใจเรื่องราวภายในของตัวเอง เพื่อก่อร่างความเต็มบริบูรณ์ให้แก่ชีวิตด้านใน อีกคำหนึ่ง ที่เรียกขานวอยซ์ไดอะล็อค ก็คือ การสนทนากับเสียงภายใน ผมตั้งชื่ออีกชื่อหนึ่ง และทำเป็นค่ายแห่งการเรียนรู้ด้วย โดยจัดสี่วันสามคืนทุก ๆ สามเดือน โดยเรียกว่า “อิสระในความสัมพันธ์”


ลูกสาวที่เป็นผู้อำนวยการวอยซ์ไดอะล็อคคนนี้ มีพ่อเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย กำลังจะตาย ที่ผ่านมา พ่อคือผู้เข้มแข็งโดยตลอดมา ไม่เคยอ่อนแอให้เห็นเลย ไม่เคยเปราะบางให้เห็นเลย แต่สิ่งที่ตามมากับความไม่ยินยอมเปราะบาง ก็คือ ความห่างเหิน ระยะห่างที่มีระหว่างสองพ่อลูกนี้มาตลอดเวลา แต่พ่อก็กำลังจะตาย ตัวเองก็เคยเห็น เคยประสบมาว่า คนที่เข้มแข็งตลอดกาลเหล่านี้ หากมีเวลาให้ได้เปิดออกกับความเปราะบาง เปิดออกให้ตระหนักรู้ รับรู้ รู้จักความเปราะบางภายในของตัวเอง เขาจะสามารถพบขุมทรัพย์กองใหญ่ที่ตนเองทอดทิ้งไป อย่างน่าเสียดาย แล้วเธอจะไม่เปิดขุมทรัพย์กองนี้ให้ผู้เป็นพ่อได้รับรู้ รับทราบเลยหรือ และเธอเอง ก็ปรารถนาอย่างยิ่งยวดที่จะได้สัมผัสดวงใจของพ่ออย่างแท้จริง ในที่สุด เธอก็ตัดสินใจ ในที่สุดการสื่อสารระหว่างทั้งสองก็เปิดออก ความเปราะบางนำไปสู่ความสนิทแนบที่หัวใจสองดวงจะอิงแอบ มอบความรักให้แก่กันและกันยามจากลา


อีกกรณีหนึี่ง ใกล้ตัวมาก ๆ เกิดขึ้นกับเพื่อนรักและลูกสาวของเขา ลูกสาวเห็นพ่อแข็งแกร่ง ถูกต้องในทุกเรื่อง ไม่เคยเปราะบางให้เห็น เห็นพ่อเป็นเทพเจ้า แต่แล้วทำไมพ่อจึงไม่เข้าใจเธอ หากเป็นเช่นนี้ พ่อก็ไม่ได้แน่จริง เก่งจริง ซินะ มีอยู่คราวหนึ่ง ที่พ่อเริ่มไปทำค่ายเรียนรู้โรงเรียนพ่อแม่ใหม่ ๆ ได้มีโอกาสพาลูกสาวไปด้วย ลูกสาวก็เปิดใจบอกกล่าวผู้เป็นพ่อตรง ๆ ว่า ไม่เคยเข้าใจเธอเลย ไม่เคยฟังเสียงเธออย่างจริง ๆ จัง ๆ ไม่เคยเข้าถึงเสียงภายในของเธอเลย ก็เป็นคร้ังแรกที่พ่อเปราะบาง เปิดเผยตัวตน ยอมรับความผิดพลาดและความล้มเหลวในการเลี้ยงดูลูกสาว สองพ่อลูกสามารถกลับมาเชื่อมโยงกันอีกครั้งหนึ่ง หลังจากนั้น ลูกสาวก็ค้นพบเสียงของตัวเอง และโตวันโตคืนทางจิตวิญญาณ


ในวอยซ์ไดอะล็อค อันเป็นวิถีทางหนึ่งของการเข้าไปศึกษาโลกภายในของตัวเอง โลกภายในที่ประกอบขึ้นด้วยเสียงภายในต่าง ๆ จากตัวตนต่าง ๆ ตัวตนอาจจะหมายถึงบุคลิกภาพต่าง ๆ  อาจจะหมายถึงวงจรสมองต่าง ๆ ที่เราสร้างขึ้นไว้เพื่อตอบสนองกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา ในบรรดาตัวตนต่าง ๆ บุคลิกภาพต่าง ๆ เหล่านี้ ตัวตนหนึ่ง ที่ดร. สโตน สามีภรรยาซึ่งเป็นดร.ทั้งคู่ ได้ให้ความสำคัญมาก ก็คือ เด็กน้อย หรือ vulnerable child หรือ เด็กน้อยผู้เปราะบาง สโตนสามีภรรยาว่า เด็กน้อยคนนี้ ได้นำพาลายนิ้วมือแห่งจิต (psychic fingerprint) ของเรามาด้วย ในเด็กน้อย จะมีตัวตนดั้งเดิมของเราดำรงอยู่ เด็กน้อยจะรู้ว่า จริง ๆ เราชอบอะไรไม่ชอบอะไร อะไรจะหล่อเลี้ยงดวงวิญญาณของเรา อะไรจะทำให้ดวงวิญญาณของเราเหือดแห้ง ไร้พลัง นอกจากนี้ ที่สำคัญยิ่ง 


เด็กน้อยยังสามารถที่จะให้และรับความสนิทสนม คือมีความสามารถที่จะรักนั้นเอง เมื่อตัวตนอื่น ๆ ที่ภาพภายนอกคือความเข้มแข็งเข้ามาปกป้องเด็กน้อย และกันเด็กน้อยเอาไว้ ไม่ให้เด็กน้อยต้องเจ็บปวด ชีวิตของเราก็เริ่มเย็นชา และห่างเหินจากผู้คน เราหมดความสามารถที่จะสนิทสนมกับใคร เราจะเหงาหงอย และชีวิตก็จะจืดชืดน่าเบื่อ นอกจากนี้ เด็กน้อยยังมีความกล้าหาญ กล้าเผชิญ จะทึ่งต่อสรรพสิ่ง ผู้คน ทำให้การเรียนรู้เกิดขึ้นตลอดเวลา บางทีตัวตนผู้เข้มแข็งอื่น ๆ ก็หยุดเรียนรู้ เพราะคิดว่า รู้แล้ว ในขณะที่เด็กน้อย หากยังอยู่กับเรา เราก็จะยังเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เปิดใจอย่างกล้าหาญที่จะก้าวล่วงไปสู่ดินแดนแห่งความไม่รู้ สุดท้าย เด็กน้อย ยังมีแผนที่การเดินทางด้านในของจิตวิญญาณของเรา หากเราได้กลับมาสัมผัสกับเด็กน้อยอีกครั้ง การเดินทางด้านในอย่างจริงจังของเราก็จะเริ่มขึ้น


แต่ในชีวิตครู เรารีบกลบเกลื่อนความเป็นไปของเด็กน้อยเร็วเกินไป เราคงยังจดจำได้ หากมีโอกาสได้พบกับครูที่เพิ่มเข้าใหม่ เมื่อเราเป็นเด็กนักเรียน เราจะรักครูคนนั้นทันที ครูใหม่ผู้เปราะบาง บางทีเธอก็อาจจะร้องไห้ต่อหน้าเด็กนักเรียน เมื่อเธอเปราะบาง และไม่รู้จะจัดการกับสถานการณ์ในห้องเรียนอย่างไร แต่พอครูอยู่ไปนาน ๆ ครูผู้เปราะบางก็หายตัวไป กลายเป็นครูผู้สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ทุกอย่าง ครูกับเด็กก็เริ่มห่างเหิน สายใยที่เคยเชื่อมโยงถึงกันก็ขาดสะบั้นลง


Parker J. Palmer เขียนไว้ใน The Courage to Teach ว่า องค์ประกอบในการเป็นครูที่ดี ครูที่แท้มีอยู่สามประการ หนึ่ง คือ วิชา หรือองค์ความรู้ สองคือ วิธีการสอน สามคือตัวตนของครู ว่า ครูจะเข้าถึงโลกภายในของตัวเอง และสามารถสร้างความกลมกลืนกับโลกภายในของตัวเองได้มากน้อยแค่ไหน แน่นอน พามเมอร์ให้ความสำคัญกับองค์ประกอบที่สามมากที่สุด หากไม่ผ่านในองค์ประกอบที่สาม องค์ประกอบสองประการแรกก็ไร้พลัง


การทำงานกับตัวตน ก็คือการเข้าไปทำงานกับภูมิทัศน์แห่งโลกภายใน จะเห็นได้ว่า สิ่งที่พามเมอร์พูดกับสโตนพูดเป็นเรื่องที่สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน พามเมอร์ว่า เราต้องกล้าเข้าไปสัมผัสความเปราะบางและเข้าไปทำงานกับมัน มิฉะนั้น เราก็จะห่างเหินจากนักเรียน ห่างเหินจากวิชา หรือองค์ความรู้ ที่เราสอน เราก็จะสอนอย่างเป็นหุ่นยนต์ อันปราศจากชีวิต สิ่งที่เราสอนก็จะไม่มีผลกระทบอันใดกับนักเรียนที่เราสอน ความกล้าที่จะสอน ก็คือ ความกล้าที่จะเปราะบาง สโตนสองสามีภรรยาว่า ความเปราะบางของเด็กน้อยไม่ใช่ความอ่อนแอ หากเป็นความกล้าหาญจะที่จะสัมผัสสัมพันธ์กับผู้คนและสรรพสิ่ง กล้านำหัวใจออกมาสัมผัสกับสิ่งต่าง ๆ โดยตรงอย่างไม่สะทกสะท้าน หากต้องการเข้าใจเรื่องนี้อย่างลึกซึ้ง เราคงต้องหาทางเรียนรู้ เรื่องราวของโลกภายใน และบทบาทของเด็กน้อยในชีวิตของครูให้มากกว่านี้ บทความชิ้นนี้ คงทำหน้าที่ได้แค่เป็นเพียงแผนที่นำทางเบื้องต้นเท่านั้น สวัสดี